"DPU"เปิดเวทีสร้างสรรค์ประสบการณ์ พัฒนาบุคลากรสายอาชีพ-รองรับนโยบาย Thailand Soft Power

Last updated: 17 ก.พ. 2568  |  449 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"DPU"เปิดเวทีสร้างสรรค์ประสบการณ์ พัฒนาบุคลากรสายอาชีพ-รองรับนโยบาย Thailand Soft Power

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU เปิดเวทีสร้างสรรค์ประสบการณ์แก่นักเรียนในระดับอุดมศึกษา พัฒนาบุคลากรสายอาชีพ-รองรับนโยบาย Thailand Soft Power

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงาน “โครงการการแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหาร ครั้งที่ 1” ภายใต้หัวข้อ “Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย” โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ชูจุดเด่นของ 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ หลักสูตรการโรงแรมและธุรกิจอาหาร และหลักสูตรศิลปะการประกอบอาหาร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียน สถานบันการศึกษา และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

การแข่งขันในครั้งนี้ออกแบบโจทย์ให้สอดคล้องกับแนวคิด “การขับเคลื่อน Soft Power ไทย”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power ของประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการใช้ Soft Power ให้เป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการระดับโลก ผ่านบริบท 5F Thailand Soft Power ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการต่อสู้มวยไทย (Fighting) และเทศกาลหรือการเฉลิมฉลอง (Festival) ซึ่งล้วนเป็นจุดแข็งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) การท่องเที่ยวและการบริการที่มีมูลค่าสูง (High Value Tourism) ตามเป้าหมายของรัฐบาล ผ่านความร่วมมือของภาคีภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภายใต้แนวคิด “High Value-added Services”


อาจารย์พรทิพย์ บุญเที่ยงธรรม หัวหน้าทีมการตลาดและประชาสัมพันธ์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ผู้จัดโครงการฯ กล่าวว่า “Soft Power ไทยเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โครงการนี้จึงไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยปลูกฝังและเสริมสร้างความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแข่งขันให้กับเยาวชนไทย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศในอนาคต”

โครงการได้รับการสนับสนุนจากจากองค์กรระดับประเทศ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา องค์กรภาคเอกชน และสมาคมวิชาชีพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การโรงแรม และอาหาร อาทิ สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และสถาบันการอาหารไทย (TCA) ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านองค์ความรู้และมาตรฐานการทำอาหารระดับสากล บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ในการเป็นที่ปรึกษาและช่วยส่งเสริมพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมด้านวิชาการ รวมทั้ง บริษัท เซเว่นไฟว์ ดิสทริบิวเตอร์ จำกัด บริษัท ริช โปรดักส์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท General Distribution Service Co., Ltd. บริษัทจอมธนา จำกัด บริษัท เอ-พลัส ซัพพลาย จำกัด บริษัท ED Clinic และ True Dtac ซึ่งสนับสนุนผลิตภัณฑ์และรางวัลสำหรับการแข่งขัน และ บริษัท เอสพีวีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนอุปกรณ์ล้ำสมัยเพื่อรองรับการแข่งขัน การสนับสนุนจากหน่วยงานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมสู่ตลาดแรงงานที่ต้องการบุคลากรคุณภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย



การแข่งขันครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงทักษะ และความสามารถ แต่ยังเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้นักเรียน นักศึกษาได้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหารได้อย่างมีศักยภาพ โดยคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการและทีมที่ชนะการแข่งขันได้รับทุนการศึกษาต่อยอด พร้อมทั้งโอกาสเชื่อมโยงกับเครือข่ายวิชาชีพ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาพันธมิตรต่าง ๆ ทำให้สามารถต่อยอดความรู้ ประสบการณ์สู่เส้นทางอาชีพที่มั่นคง และมีความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับชาติ และระดับนานาชาติในอนาคต รวมทั้งช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน การแข่งขันนี้จึงเป็นมากกว่าเวทีพัฒนาทักษะของเยาวชน แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหารให้มีความทันสมัยและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น

อาจารย์พรทิพย์ กล่าวปิดท้ายต่อว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่ การรับนำแนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของชาติมาผสานเข้ากับการเรียนรู้ การจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้จะถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้เป็น High Value Tourism และเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างนักจัดการด้านการท่องเที่ยว นักบริการ นักบริหาร ผู้ประกอบการ และเชฟรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง และยั่งยืน.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้