สนง.เลขาฯวุฒิสภาจับมือ2มหาวิทยาลัยดัง ดึงผลงานวิชาการต่อยอดการทำงาน ส.ว.เพื่อประโยชน์ปชช.

Last updated: 5 เม.ย 2568  |  39 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สนง.เลขาฯวุฒิสภาจับมือ2มหาวิทยาลัยดัง ดึงผลงานวิชาการต่อยอดการทำงาน ส.ว.เพื่อประโยชน์ปชช.

สนง.เลขาฯวุฒิสภา จับมือ2 มหาวิทยาลัยดัง ดึงผลงานวิชาการต่อยอดการทำงาน “ส.ว.”เพื่อประโยชน์ ปชช.-ประเทศชาติภาพรวม

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ห้องประชุมหมายเลข 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยนางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา กับมหาวิทยาลัยนครพนม โดยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ลงนามในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และมีนายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญลยา มิขะมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยนครพนม ลงนามเป็นพยาน โอกาสนี้พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนม และผู้บริหารมหามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมในพิธี



จากนั้นสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยนางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยศาสตราจารย์ ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงนามในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และมีนายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงนามเป็นพยาน



นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง กล่าวว่า วุฒิสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติของวุฒิสภา จึงเป็นโอกาสของความร่วมมือในการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินงานเพื่อทำให้เกิดการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และนวัตกรรมร่วมกัน แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและพัฒนาการของการประสานประโยชน์ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อรองรับการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติและเพื่อประโยชน์ของประชาชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้