Last updated: 19 มี.ค. 2568 | 351 จำนวนผู้เข้าชม |
กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา ชี้สิทธิบัตรยา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ทำไทยกระอักเลือด กระทบ 4 ข้อ ทั้งยาแพง-ผูกขาดยา-ยาขาดตลาดไม่สามารถรับมือโรคระบาดได้
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (สส.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การต่างประเทศ วุฒิสภา นำโดยนายโสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการ แถลงข่าวสรุปผลการสัมมนาเรื่อง “สิทธิบัตรยาภายใต้ FTA ไทย-สหภาพยุโรป : โอกาสหรืออุปสรรคในการเข้าถึงยาของประเทศไทย” โดยกล่าวว่า ได้มีการพิจารณาศึกษาการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะยกระดับมาตรฐานของประเทศ
จากการศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากการทำความตกลงดังกล่าว พบว่า สิทธิบัตรยาซึ่งอยู่ภายใต้ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ มีความอ่อนไหว และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศ รวมถึงการเข้าถึงยาของประชาชน
โดยมีประเด็นข้อห่วงกังวล ดังนี้ 1. สิทธิบัตรยา โดยปรากฏข้อเสนอของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ยามีราคาแพงและสามารถอยู่ในตลาดได้นานขึ้นส่งผลให้การผลิตยาใหม่ที่ถูกกว่าเกิดขึ้นได้ช้าลง 2. การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นการผลิตยาชื่อสามัญ ส่งผลให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลของประชาชนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น 3. การจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing - CL) ซึ่งอาจทำให้รัฐไม่สามารถจัดหายาในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที และ 4. การขออนุสิทธิบัตรจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของสูตรยา (Evergreening patent) อาจนำไปสู่การผูกขาดทางตลาดโดยไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่แท้จริง
ในการสัมมนายังได้ข้อสรุปเพิ่มเติมอีกว่า องค์กรเภสัชกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิตยาสามัญหลักของไทย ควรปรับตัวเป็น R&D (Research and Development) ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายา และควรเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตยาสามัญในประเทศไทยมีโอกาสเข้ามาผลิตยาสามัญได้เพิ่มมากขึ้น.