สายงานวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลงานวิจัย...รู้จัก"ไรเดอร์"อาชีพผู้ส่งอาหาร

Last updated: 12 ส.ค. 2567  |  263 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สายงานวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลงานวิจัย...รู้จัก"ไรเดอร์"อาชีพผู้ส่งอาหาร

สายงานวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดผลงานวิจัย รู้จักอาชีพผู้ส่งอาหาร หรือ“ไรเดอร์”ฟันเฟืองสำคัญสร้างเม็ดเงินให้ธุรกิจสูง เผยเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจ แนะบริษัทฯให้ความสำคัญค่าตอบแทน-สวัสดิการ-ความปลอดภัย-รับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จากผลจากการวิจัยเรื่อง การศึกษาสถานการณ์ ปัจจัย และผลกระทบด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้ขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร สายงานวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้จัดทำโดย ผศ. ดร.กิตติชัย อธิกุลรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคณะนักวิจัยจากวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์กรมหาชน) โดยได้เปิดมุมมองต่ออาชีพผู้ขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร หรือไรเดอร์ ในยุคที่การส่งอาหาร ได้ถูกนำเสนอผ่านเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ และ สอดคล้องต่อความต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคที่ต้องการให้อาหารมาส่งถึงหน้าประตูที่พัก จนผลักดันให้ธุรกิจการส่งอาหารเติบโตอย่างก้าวกระโดด “ไรเดอร์” จึงกลายเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประเภทนี้


“ไรเดอร์” คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้อาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ไปถึงมือผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจการส่งอาหารได้กลายเป็นทางออกสำคัญสำหรับผู้บริโภค และร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มติดการใช้ไรเดอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ และจากรายงานของ Statista ในปี 2020 ตลาดการส่งอาหารออนไลน์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 136.4 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึง 182.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจการส่งอาหาร กลับมีเรื่องราวของไรเดอร์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายที่ต้องการการแก้ไข และการดูแลจากบริษัทแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ มากยิ่งขึ้น



จากงานวิจัยพบว่า “ไรเดอร์” ที่ทำการส่งอาหารเป็นอาชีพหลักนั้น ส่วนใหญ่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง โดยมีเวลาพักประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน รายได้จะอยู่ที่ราว 19,000 - 20,000 บาทต่อเดือน และไรเดอร์ประมาณร้อยละ 25 ไม่ได้ทำประกันสังคม นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า ไรเดอร์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งการขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อส่งอาหารท่ามกลางการจราจรที่คับคั่ง และสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ไรเดอร์มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และความสามารถในการทำงานของพวกเขา

นอกจากนี้การทำงานหนัก และเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เหมาะสมยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ มีผลการวิจัยระบุว่าไรเดอร์มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเครียด ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ความเหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาโรคผิวหน้ง และความผิดปกติของกล้ามเนื้อ และกระดูก ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความสามารถในการทำงานในระยะยาว โดยผลกระทบจากการปฏิบัติงานมีตั้งแต่ การบาดเจ็บเล็กน้อย ทรัพย์สินเสียหาย และขาดรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว

ในด้านสวัสดิการพื้นฐาน และความมั่นคงในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ไรเดอร์ต้องการเช่นกัน ซึ่งต้องการให้บริษัทแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ ปรับปรุงค่าตอบแทน โครงสร้างค่าคอมมิชชั่นให้เหมาะสมกับความเสี่ยง และความรับผิดชอบในงาน อยากให้จัดหาประกันภัย ความคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ มีการจัดสรรเวลาพัก และ กำหนดจำนวนงานที่เหมาะสม รวมถึงการฝึกอบรมในทักษะที่จำเป็น อาทิเช่น การซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ขั้นพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษาสุขภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของไรเดอร์



ทั้งนี้การดูแลไรเดอร์ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ และความสำเร็จของธุรกิจ บริษัทแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ดูแลพนักงานอย่างดีมักได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า นอกจากนี้การสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับไรเดอร์ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และสังคมในภาพรวม การแก้ไขปัญหาของไรเดอร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับอาชีพนี้บริษัทควรให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานไรเดอร์ ทั้งในด้านค่าตอบแทน สวัสดิการ และความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างมาตรฐานนโยบายที่เป็นธรรม รวมถึงการสื่อสาร และรับฟังความคิดเห็นของไรเดอร์จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม.

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้