นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง 12 มิ.ย.วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล

Last updated: 12 มิ.ย. 2567  |  188 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง  12 มิ.ย.วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล

นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปราศจากการใช้แรงงานเด็กในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล 12 มิถุนายนของทุกปี

เมื่อวันก่อน นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า อยากเรียกร้องเนื่องในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ให้ประเทศไทยปราศจากการใช้แรงงานเด็กและให้เด็กทุกคน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าสู่สถานศึกษา ซึ่งเป็นการได้รับการศึกษาขั้นต่ำคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้เป็น “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล (World Day Against Child Labour)” เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความเลวร้ายของสถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กให้หมดสิ้นไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ILO ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและให้ดำเนินการโดยทันที เพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ค.ศ.1999 ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 และประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ในการประชุมสามัญสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 โดยมีเป้าหมาย SDGs ที่ 8.7 ในการยุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ ภายในปี 2025 โดยเฉพาะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมานำรณรงค์ชูฝ่ามือขวาเป็นแคมเปญต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการใช้แรงงานเด็กและร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้ายุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ ภายในปี 2025

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่กระทรวงแรงงานออกมารณรงค์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นภายในปีหน้านี้ กลับปรากฏว่ามีกระทรวงแรงงานเองออกกฎหมายให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุ 15-18 ปีได้อย่างถูกต้องในกฎหมายของกระทรวงแรงงานเอง อาทิพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 44 “ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง” อันเป็นการให้เด็กอายุ 15-18 ปี สามารถทำงานเป็นลูกจ้างได้รวมถึงกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานตามบ้าน ก็ระบุว่า กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับเด็กโดยตรง ในส่วนแรงงานต่างด้าวก็ยังอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานเด็กที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในงานที่ไม่เป็นอันตรายได้

การแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กที่ดีที่สุด คือการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาในสถานศึกษา รัฐได้ตระหนักเรื่องนี้อย่างดี จึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 ให้จัดการศึกษา 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การศึกษา 15 ปี นับตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ปี ชั้นประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษาอีก 6 ปี ซึ่งเด็กอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยทั่วไปจะมีอายุน้อยกว่า 18 ปี อันเป็นการบังคับให้เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาผ่านระบบการศึกษาอยู่ในโรงเรียน นอกจากให้เรียนแล้วยังช่วยเหลือในด้านการไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยให้เด็กนักเรียนทุกคนได้รับการสนับสนุน ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ให้เด็กทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนได้โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารแสดงตน สัญชาติ พื้นที่การศึกษา และระดับการศึกษา นั่นคือให้เด็กทุกคนสามารถเรียนได้ถึงระดับสูงสุดคือปริญญาเอก และมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเป็นกฎหมายมารองรับมติครม.นี้ แม้จะมีนโยบายและกฎหมายให้เด็กทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน แต่การศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ในปีการศึกษา 2566 มีเด็กอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา 15 ปี คือชั้นอนุบาลที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเข้าไม่ถึงหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาถึง 1,025,514 คน ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยมีเป้าหมายบรรลุผล 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570

อย่างไรก็ดียังพบกฎหมายและการปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการบางส่วนที่ขัดแย้งหรือไม่เอื้อต่อการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา อาทิ กระทรวงศึกษาธิการจัดเงินสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยไม่สนับสนุนอาหารกลางวันกับเด็กชั้นมัธยมศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.)ออกระเบียบไม่จัดเงินอุดหนุนช่วยเหลือทางการศึกษาให้กับเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีหนังสือแจ้งว่าการจัดการศึกษา ผู้เรียนต้องมีสัญชาติไทย ทำให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเข้าเรียนโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้ออกประกาศให้โรงเรียนในสังกัดไม่รับเด็กที่เป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ เด็กที่เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และเด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน เมื่อกลไกในระบบการศึกษาไม่รับและไม่เอื้อต่อการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กทุกคน เด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาก็จะกลายเป็นเด็กที่เข้าระบบแรงงานเป็นแรงงานเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประตูการเป็นแรงงานเด็กตามกฎหมายก็ยังเปิดรองรับเด็กเหล่านี้
เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยในปี 2025 กระทรวงแรงงานต้องปิดประตูการเข้าสู่แรงงานเด็กอย่างจริงจัง โดยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็ก คือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาได้ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดประตูทุกบานรองรับเด็กทุกคนให้เข้าถึงระบบการศึกษา ตามหลัก Education for all โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ.

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...รังสี ลิมปิโชติกุล-ราชบุรี.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้