Last updated: 28 ต.ค. 2566 | 363 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งกับการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียว
ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงการเดินหน้าโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในทศวรรษต่อไป โดยย้ำชัดถึงแนวทางหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั่นคือ การพัฒนาสีเขียว
แนวคิดการพัฒนาสีเขียว เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจีน และจีนยังใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาในระดับโลก เมื่อย้อนไปถึงอารยธรรมจีนเมื่อหลายพันปีก่อน จีนมีหลักคิดสำคัญเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน จนมาถึงการขับเคลื่อนจีนในยุคใหม่ จีนยังย้ำแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องทรัพยากรดังคำล่าวที่ว่า “น้ำทะเลและภูเขาเขียวขจีเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้”
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนส่งเสริมให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การลงทุนสีเขียว และการจัดหาเงินทุนสีเขียว เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อโลกที่สะอาด และสวยงาม เช่น ที่ประเทศเคนยา มีโครงการสร้างทางรถไฟ Mombasa-Nairobi Standard Gauge ระยะทางประมาณ 580 กิโลเมตร เชื่อมเมืองไนโรบีกับเมืองมอมบาซา ของเคนยา เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหลายพื้นที่ ผู้รับผิดชอบการออกแบบและก่อสร้างทางรถไฟได้ออกแบบให้มีทางเดินสำหรับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ 14 แห่ง และสะพานอีกกว่า 80 แห่งที่มีความสูงกว่า 6.50 เมตร เพื่อให้สัตว์ขนาดใหญ่ อย่างยีราฟ ช้าง สามารถผ่านได้ อีกตัวอย่างคือ
ที่ประเทศปากีสถาน มีการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์ม เพื่อปลูกผัก และผลไม้ในจังหวัดปัญจาบของปากีสถาน เพื่อเพิ่มแหล่งอาหาร พัฒนาคุณชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ที่ประเทศเซเนกัล จีนส่งเสริมโครงการบําบัดน้ำเสียของดาการ์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่โดยรอบ และรวมถึงส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามแนวชายหาด ที่ประเทศกานา มีการโครงการโรงไฟฟ้า Sunon Asogli ด้วยการสนับสนุนจากจีน ทำให้รองรับความต้องการไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าในกานา ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว ที่ประเทศคาซัคสถาน จีนยังส่งเสริมโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม Zhanatas และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Turgusun ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศ
ทั้งนี้จีนยังได้ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพลังงานสีเขียวกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ มีการลงนามความร่วมมือกว่า 50 ฉบับเกี่ยวกับการดูแลระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวข้อริเริ่มความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อการพัฒนาสีเขียวกับประเทศต่าง ๆ 31 ประเทศ รวมถึงได้นำแนวคิดเรื่องการพัฒนาสีเขียวไปสู่การขยายความร่วมมือในระดับต่างๆ ให้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นแล้วว่านี่คือ แนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง.
ขอบคุณบทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย. ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย.