Last updated: 5 มี.ค. 2568 | 445 จำนวนผู้เข้าชม |
ประธานวุฒิ ย้ำฝ่ายนิติบัญญัติ หนุนบทบาทสตรีสู่พัฒนายั่งยืน ผ่านกฎหมายยึด ปชช.เป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครข้างหลัง ด้านอนุกมธ.กิจการสตรีฯวุฒิสภา แนะไทยเร่งสร้างหลักประกันให้สตรีมีโอกาสเท่าเทียม ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 402 - 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา จัดเสวนาโต๊ะกลมเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี พ.ศ. 2568 เรื่องการพัฒนาระบบทางสังคมสำหรับสตรีเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 : การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทสตรีและเด็กหญิงทุกคน โดยมีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ปาฐกถานำ หัวข้อ “การสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 ระหว่างหน่วยงาน” และนางอจลา ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวรายงาน โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 เป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพอย่าง มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับบทบาทของรัฐสภาไทยในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ตามคำประกาศของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของรัฐสภาแต่ละประเทศ โดยผ่านการบัญญัติกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และบทบาทของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งอยู่ในสถานะของการเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างประชาชน และสถาบันของรัฐ รวมถึงส่งเสริมการผ่านกฎหมายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (No One is Left Behind) ซึ่งการจัดเสวนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรค รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางอจลา ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs เป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลกทุก ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ ซึ่งประเทศไทยได้นำกรอบความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบหลักในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเชื่อมโยงและการพัฒนาที่สมดุลระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การเมือง การมีส่วนร่วม และสิ่งแวดล้อม
โดยถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาเครื่องมือ กลไก และระบบทางสังคมสำหรับสตรี และผลักดันให้เกิดการสร้างหลักประกันให้สตรีได้มีส่วนร่วม และมีโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนความเจริญของประเทศในทุกมิติต่อไป
จากนั้นนางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ปาฐกถานำ หัวข้อ “การสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 ระหว่างหน่วยงาน” ใจความตอนหนึ่งว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมข้อมูล การศึกษาต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดมาให้บทบาทสตรีและความหลากหลายทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศในอาเซียนที่สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มบทบาทของสตรี และเด็กหญิงทุกคนได้สำเร็จ รวมทั้งวุฒิสภาผ่านพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมได้สำเร็จถือเป็นความสำเร็จของความเสมอภาคทางเพศอย่างถูกกฎหมาย และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติในหลายฉบับ ขณะที่วุฒิสภาควรต้องมีการพิจารณากฎหมายให้มีความละเอียด รอบคอบและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งการขับเคลื่อน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้นโยบายสัมฤทธิ์ผลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้านต่อไป.