"ประกันสังคม"ดูแลผู้ประกันตนทุกช่วงวัย โชว์ความสำเร็จการดำเนินงานปี 67

Last updated: 23 ธ.ค. 2567  |  42 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ประกันสังคม"ดูแลผู้ประกันตนทุกช่วงวัย โชว์ความสำเร็จการดำเนินงานปี 67

ประกันสังคม ดูแลผู้ประกันตนทุกช่วงวัย โชว์ความสำเร็จการดำเนินงาน ปี 67

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เปิดการแถลงข่าวผลการดำเนินงานสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม พร้อมสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ที่ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม



นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง”ของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนโยบายนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนในระบบกว่า 24.80 ล้านคน ประกอบด้วยมาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน สำนักงานประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม 7 กรณี แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว จำนวน 112,829.93 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทนจำนวน 1,821.25 ล้านบาท รวมสิทธิประโยชน์จากทั้ง 2 กองทุน จำนวน 114,651.18 ล้านบาท โดยสำนักงานประกันสังคมมีเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม กว่า 2.6 ล้านล้านบาท กองทุนเงินทดแทนกว่า 81,538 ล้านบาท



ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1.เพิ่มสิทธิประโยชน์และการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย •ยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (1) จัดทำโครงการ SSO 515 : 5 โรค 15 วัน เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลกว่า 76 แห่ง ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาและหัตถการ 5 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือรังไข่ ผลการดำเนินงาน (มกราคม – พฤศจิกายน 2567) ผู้ประกันตนเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 16,166 ราย

(2) เพิ่มสิทธิประโยชน์และด้านบริการทางการแพทย์ อาทิ (1) เพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไต สามารถฟอกไตด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) (2) ปรับหลักเกณฑ์ การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย (3) เพิ่มสิทธิการตรวจ Sleep TEST และการรักษาด้วยเครื่อง CPAP 4) เพิ่มการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 รายการ (กะโหลกศีรษะเทียม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง การผ่าตัดใส่ลูกตาเทียม (ลูกตาปลอมเฉพาะบุคคล)

(3) เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพจากรายการตรวจพื้นฐาน 14 รายการ “รู้ทันโรค ด้วยการตรวจสุขภาพ” โดยตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการและเขตชุมชน ดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. - 30 พ.ย. 67 มีผู้รับบริการ จำนวน 365,491 ราย (4) เพิ่มการเข้าถึงกรณีทันตกรรม ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรมด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่แบบเชิงรุกในสถานประกอบการ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 มีผู้รับบริการ จำนวน 25,262 คน (5) ปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล “กรณีเจ็บในงาน” ขั้นต้นให้กับลูกจ้าง โดยนายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เดิม วงเงินขั้นต้น 50,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 65,000 บาท
(6) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จากเดิม 800 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 คน โดยสำนักงานประกันสังคมเสนอร่างกฎกระทรวงตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงแล้ว และเมื่อกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอัตรา 1,000 บาท ในเดือนมกราคม 2568 นี้ อย่างแน่นอน

(7) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ. 2567 สำนักงานประกันสังคม ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการขึ้นเพื่อลดภาระผู้ประกันตนทุกมาตรา โดยให้ผู้ประกันตน 1. กู้ซื้อที่อยู่อาศัย 2. กู้สร้างที่อยู่อาศัย 3. กู้ซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ภายในวงเงินต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้มีผู้ประกันตนได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารแล้ว 762 ราย เป็นเงิน 1,238.06 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2567)

2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของสำนักงานประกันสังคม ขยายบริการด้านการรับ - จ่ายเงิน ดังนี้ 1. เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินมาตรา 40 ผ่าน Mobile Application 2. พัฒนาระบบการชำระเงินสมทบมาตรา 40 ผ่าน OR Code (Cross Bank Bill Payment บริการชำระบิลข้ามธนาคาร) 3. เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบมาตรา 39 ผ่าน Mobile Application 4. เพิ่มบริการผู้ประกันตน ผ่าน Application SSO Plus ให้บริการประกันสังคมครบจบใน App ปัจจุบันมียอดการดาวน์โหลดสะสม จำนวน 3.8 ล้านครั้ง 3) ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ
(1) จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ SSO MARKET 2024 เพื่อสร้างการรับรู้งานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนทุกมาตรา เปิดโอกาสให้แรงงานอิสระได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และบริการตรวจสุขภาพทั่วไปฟรี ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 มีผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานและนิทรรศการกว่า 65,000 คน (2) จัดโครงการครอบครัวประกันสังคมในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการฯ “ครอบครัวคุณ ครอบครัวเรา ครอบครัวประกันสังคม ครอบครัวเดียวกัน” ให้สิทธิพนักงานนำสมาชิกในครอบครัว จำนวน 1 คน มาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยสถานประกอบการสนับสนุนจ่ายเงินสมทบให้ครอบครัวของพนักงานตลอดระยะเวลาที่ยังทำงานกับบริษัท ดำเนินการแล้วกว่า 80 จังหวัด/สาขา มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 167 แห่ง ครอบครัวพนักงานได้รับหลักประกันแล้วกว่า 2,636 คน

(3) สร้างหลักประกันสังคมให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ สร้างกลไกเครือข่ายประกันสังคมผ่านผู้นำแรงงานไทยในต่างประเทศ รณรงค์ประชาสัมพันธ์และรับสมัครขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40 (4) ประกันสังคมทั่วไทยสู่แรงงานภาคอิสระ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ในระดับภูมิภาค (5) บูรณาการความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลง กับกรมการขนส่งทางบก และการยางแห่งประเทศไทย สร้างการรับรู้และเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ให้กับผู้ขอใบอนุญาตขับรถประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกรชาวสวนยาง มีหลักประกันความมั่นคงทางสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี

4) สร้างการรับรู้งานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดการประชุมวิชาการประกันสังคม ในหัวข้อ “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารและเสถียรภาพของกองทุน แนวทางการพัฒนาทางการแพทย์ การลงทุน ระบบบำนาญประกันสังคม แนวทางสร้างความยั่งยืน และรับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นงานประกันสังคมในหลายด้านแก่ผู้แทนพรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และหน่วยงานต่าง ๆ



5) มาตรการในการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการลดอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (เดิม 55 จังหวัด) และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพิ่มเติม จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และพัทลุง 

55 จังหวัด : มีมาตรการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5% ลดเหลือ 3% ผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% (432 บาท) ลดเหลือ 5.9% (283 บาท) เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2567 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2568 และขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบ และการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ออกไปอีก 3 เดือน
ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

3 จังหวัด : โดยมีมาตรการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5% ลดเหลือ 3% ผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% (432 บาท) ลดเหลือ 5.9% (283 บาท) เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงงวดเดือนเมษายน 2568 และขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 งวดเดือนพฤศจิกายน 2567 – กุมภาพันธ์ 2568 ออกไปอีก 3 เดือน ขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบในหลักการ และอยู่ระหว่างกระบวนการตามขั้นตอนทางกฎหมาย



6) ด้านรางวัลแห่งความสำเร็จ ในปี 2567 สำนักงานประกันสังคมคว้ารางวัลในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) โดยได้รับรางวัลถึง 12 หน่วยงาน ได้แก่ สีเงิน : จังหวัดเชียงใหม่ สีฟ้า : สปส.กทม.พื้นที่ 4, สปส.กทม.พื้นที่ 7, จังหวัดน่าน, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดบึงกาฬ, จังหวัดมุกดาหาร,จังหวัดหนองคาย,จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดแพร่ สาขาลอง รางวัลเลิศรัฐ สาขารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) และสำนักงานประกันสังคมผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รายหมวด 1 ด้านการนำองค์การและความรับผิดชอบต่อสังคม รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ระดับกรม รางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ระดับกรม ประจำปี 2567 เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีการอำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคแก่ภาคธุรกิจ มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รางวัลจากสมาคมการประกันสังคมระหว่างประเทศ (International Social Security Association: ISSA) จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) การเข้ารับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย 2) การลงทุนทางสังคมของสำนักงานประกันสังคมประเทศไทย 3) การตรวจสุขภาพเชิงรุก และรางวัล ASSA Recognition Award สาขา Customer Service เรื่อง การให้บริการทางการแพทย์เชิงรุก

นางมารศรี เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อว่า "ดิฉันในนามของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนงานตามนโยบาย พัฒนาคนให้เก่งดี นำไอทีประยุกต์ใช้ สื่อสารทั่วถึงฉับไว กฎหมายทันสมัยทันเวลา” โดยมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยในทุกมิติ ท่ามกลางความสำเร็จในปี 2567 และความมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ปี 2568 เพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมให้ทันสมัยและยั่งยืน".

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้