สปส.เปิดผลงานครบรอบ1ปีบอร์ดประกันสังคม พัฒนาต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน

Last updated: 3 เม.ย 2568  |  780 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สปส.เปิดผลงานครบรอบ1ปีบอร์ดประกันสังคม พัฒนาต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน

สปส.เผยผลการดำเนินงานครบรอบ 1 ปี ของคณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษาชุดที่ 14 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.67- ก.พ.68 ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมทั้งหมด 21 ตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 7 ตำแหน่ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 ตำแหน่ง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 7 ตำแหน่ง รวมถึงที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคมอีก 7 ตำแหน่ง โดยมี"บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์"ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่คณะกรรมการประกันสังคมดำรงตำแหน่ง ได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการพัฒนางานประกันสังคม รวมถึงพิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการออกกฎหมายต่างๆ วางระเบียบ พิจารณางบดุลและผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้


1.การพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนทุกมาตรา -สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ได้มีการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาท กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 และเงินสงเคราะห์บุตรในอัตราใหม่จะโอนเข้าสู่บัญชีผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาการเข้าถึงและปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ การบริหารจัดการรายการยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน โครงการ SSO Cancer Care เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ยังสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งที่มีศักยภาพ กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการฯ ยังได้เสนอปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน รวมถึงเห็นชอบในหลักการปรับเพดานค่าจ้างเพื่อเพิ่มฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการปรับแก้กฎหมายต่อไป -ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินและปรับเงื่อนไขการเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อมีการหยุดงานจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนแก่ทายาท กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต และเพิ่มค่าคลอดบุตร ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการปรับแก้กฎหมายต่อไป



2.การขยายความคุ้มครองผู้ประกันตน -สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายความคุ้มครอง 1) ลูกจ้างกลุ่มเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ ของนายจ้างซึ่งมิได้ใช่ลูกจ้างตลอดปี 2) ลูกจ้างที่นายจ้างเป็นบุคคลธรรมดา และมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และ 3) ลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบการค้าแผงลอย เพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นและนำผลกลับมาเพื่อพิจารณาต่อไป -ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ปรับลดเงินสมทบให้ร้อยละ 10 กรณีชำระเงินสมทบล่วงหน้า 12 เดือน



3.มาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อน
- กรณีสถานการณ์อุทกภัย ได้ขยายระยะเวลาส่งเงินสมทบ และลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนและนายจ้างใน 58 จังหวัดทั่วประเทศไทย กฎหมายมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว -ด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนวงเงิน 10,000 ล้านบาท และเพื่อให้ผู้ประกันตนได้กู้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายในอัตราดอกเบี้ย 1.59% เป็นระยะเวลา 5 ปีแรก และอัตราทยอยปรับตามที่กำหนด โดยโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2568 ถึง 31 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินจะหมดลง

4.การให้บริการของสำนักงาน -ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญในการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และใบแทนบัตรประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 ปี (1 มกราคม 2568 - 31 ธันวาคม 2569) -ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบ e-payment ไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่ 15 ของเดือน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 – 31 ธันวาคม 2572



5.การบริหารจัดการองค์กร เห็นชอบแผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคม และแผนปฏิบัติการที่สำคัญด้านต่างๆ รวมทั้งเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารสำนักงานประกันสังคมประจำปี 2568 จำนวน 5,219 ล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานและการพัฒนางานด้านต่างๆ สำหรับองค์กร และ 6.การบริหารการลงทุน เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน กองทุนประกันสังคมฉบับที่ 5 ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2568 - 2570) ซึ่งกำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคตของกองทุนประกันสังคม โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ และในหลักทรัพย์เสี่ยงเพื่อเพิ่มผลตอบแทน รวมทั้งสร้างผลตอบแทนด้านการลงทุน จำนวน 71,960 ล้านบาทในปี 2567 มีอัตราผลตอบแทน 5.34% จากเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมทั้งหมดจำนวน 2.65 ล้านล้านบาท



เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำกับผู้ประกันตนว่า สำนักงานประกันสังคม ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการประกันสังคม พร้อมพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนทุกคน.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้