Last updated: 12 พ.ย. 2567 | 112 จำนวนผู้เข้าชม |
สพป.ราชบุรี เขต 1 จัดเวทีถอดบทเรียน โรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์เด็กและเยาวชน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 พ.ย.ที่ห้องประชุมลดาวัลย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 เป็นประธานจัดเวทีถอดบทเรียน โรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการพัฒนาต้นแบบระบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตเด็กและเยาวชน (1โรงเรียน 3 รูปแบบ) โดยมีโรงเรียน เข้าร่วม 8 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนไพรสะเดา,โรงเรียนบ้านตะโกล่าง ,โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี),โรงเรียนรุจิรพัฒน์,โรงเรียนชุมชนวัดรางบัว (แหลมราษฎร์บำรุง),โรงเรียนวัดป่าไก่(ส่วนประชานุกูล ),โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ,โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่อง และต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนมหาราช 7 โรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง โรงเรียนเนกขัมวิทยา และโรงเรียนวัดดอนตะลุง
โดยมี ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมทางสังคมเพื่อการบริหารและพัฒนาทางสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นกระบวนกรในการถอดบทเรียน เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดในการออกแบบหลักสูตร ตั้งแต่ต้นทุนโรงเรียน จุดเด่นของโรงเรียน สิ่งที่ได้ดำเนินการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ของเด็ก หลักสูตร 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ วิธีการจัดการเรียนรู้ แนวทางในการสนับสนุนต่อยอด ข้อค้นพบต่อการทำงานเรื่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ
ดร.บรรเจิด กล่าวว่า สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการจัดการศึกษาในปัจจุบัน พบว่ามีเด็ก และเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงมีแนวความคิดที่จะมีการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลายตอบโจทย์เด็กและเยาวชนมากขึ้น เป็นบันได 4 ขั้น เพื่อให้สอดคล้องตอบโจทย์ แก่เด็กและเยาวชน ที่มีสภาพปัญหาที่งถิ่นกัน แต่ละบุคคล ซึ่งบันไดขั้นที่ 1 การศึกษาในระบบ (วิชาการ) บันไดขั้นที่ 2 1 โรงเรียยน 3 รูปแบบ (ห้องเรียนสร้างโอกาส) บันไดขั้นที่ 3 จัดตั้งศูนย์การเรียน ศูนย์การเรียนสร้างสรรค์การเรียนรู้ บันไดขั้นที่ 4 การศึกษานอมจากโรงเรียนกระบบ ส่งต่อศูนย์การเรียนรู้
1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็นการจัดการศึกษาที่มีกฎหมายรับรองถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาในระบบด้วยหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน การศึกษานอกระบบที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ โดยที่สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกัน ต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย ฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน
การจัดการศึกษาด้วยแนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครูและโรงเรียนเพื่อทำงานกับเด็กตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายกรัฐมนตรีประกาศมุ่งเป้าลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์ การจัดการศึกษาตามสิทธิให้กับเด็กและเยาวชน โดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความสนใจ ความต้องการ และออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนรายคน เพื่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์คนหนึ่งอย่างเต็มที่โดยการจัดการศึกษา ในรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ (ห้องเรียนสร้างโอกาส) เป็นการจัดการศึกษาสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย การเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ที่เป็นการออกแบบให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคนแล้ว จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพ การเรียนในรูปแบบ Active Learning ที่ช่วยสร้างเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ พร้อม ๆ กับการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากมาเรียน ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข ในการนำนวัตกรรมการศึกษา เพื่อช่วยนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีผลการเรียนดีขึ้น
การพาเด็กกลับมาเรียนไม่ได้สิ้นสุดที่การพบตัวและพากลับไปที่โรงเรียน แต่การตามเด็กกลับมาแล้วจะทำให้ไปต่อได้ ต้องมีแนวทางรับมือที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีวิธีการที่เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กที่มีภาระหน้าที่ต่าง ๆ อาทิ ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือต้องไปประกอบอาชีพหารายได้ ดังนั้นต้องมีระบบศูนย์การเรียน มีการฝึกอาชีพ มีห้องเรียนสร้างโอกาส โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก เป้าหมายสำคัญ คือ ถ้าทุกโรงเรียนต้องมองร่วมกันว่าจะเอาหลักสูตรเป็นตัวตั้ง แล้วคิดต่อยอดในการช่วยกันบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ เข้าไปในกิจวัตรประจำวันหรือภาระงานของผู้เรียน เราจะมีวิธีรับมือกับเด็กทุกกลุ่ม ทุกความเสี่ยงที่เด็กต้องเผชิญในชีวิต ที่ผ่านมาพบว่าเด็กคนหนึ่งเมื่อออกจากโรงเรียน ก็เหมือนถูกผลักไปเป็นปัญหาสังคม แล้วชีวิตจะเข้าสู่วงจรสีเทา ถ้าเราออกแบบการศึกษาที่หลากหลายและสอดรับกับความสนใจ การศึกษาจะทำหน้าที่ของมัน เป็นการนำโอกาสเข้าไปช่วยฟื้นฟูเยียวยาเด็ก ให้รู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ แล้วจะพาตัวออกจากวงจรสี่ยง และกลับมาอยู่บนทิศทางที่เหมาะสมได้อีกครั้ง บทเรียนนี้สอนว่า ถ้านำวิธีการนี้ย้อนกลับไปทำที่ต้นทางคือในโรงเรียน ซึ่งตัวกฎหมายเอื้อให้ทำได้ อาจลดปัญหาอาชญากรรมเด็ก จิตเวช ยาเสพติด และปัญหาอื่น ๆ ในสังคมพร้อมลดจำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้จำนวนมาก ดร.บรรเจิด กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...รังสี ลิมปิโชติกุล ราชบุรี