AOT ย้ำอันตรายจากการปล่อยโคม ช่วงลอยกระทง-เตือนฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

Last updated: 12 พ.ย. 2567  |  1748 จำนวนผู้เข้าชม  | 

AOT ย้ำอันตรายจากการปล่อยโคม ช่วงลอยกระทง-เตือนฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

AOT ย้ำเตือนอันตรายจากการปล่อยโคมช่วงลอยกระทง 67 ฝ่าฝืนโทษทั้งจำทั้งปรับลั่นหากทำให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหายหรือเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยระหว่างบิน โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 - 20 ปี ปรับ 600,000-800,000 บาท

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลยี่เป็ง ตรงกับวันที่ 15 พ.ย.67 หน่วยงานหรือประชาชนในบางพื้นที่อาจมีการจัดกิจกรรมปล่อยโคมลอย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการทำการบินได้ ดังนั้นในส่วนของ AOT ผู้บริหารท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ขอย้ำเตือนอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน พลุ ตะไล บั้งไฟ ดอกไม้ไฟ ลูกโป่ง รวมถึงการปล่อยโดรน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน และการมองเห็นของนักบิน ได้แก่ เครื่องบินสูญเสียการควบคุม ทำให้เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ หรือหากเข้าเครื่องยนต์หรือโดนถังน้ำมันเครื่องบิน อาจเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง บดบังทัศนวิสัยของนักบินและรบกวนสมาธิของนักบิน ตลอดจนการฉายลำแสงเลเซอร์ขึ้นบนท้องฟ้า (Laser Beam) ซึ่งรบกวนสายตาของนักบิน

AOT จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการจุด และปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ตามมาตราที่ 59/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ได้ห้ามไว้ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษสูงสุด คือจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการทำให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหายจนไม่สามารถทำการบินได้หรืออาจเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 800,000 บาท

สำหรับพื้นที่นอกเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ขอให้ผู้ที่ต้องการจุด และปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศ จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเช่น ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือประกาศจังหวัดที่ต้องการขออนุญาตปล่อย ซึ่งจะระบุรายละเอียดของพื้นที่ที่สามารถอนุญาตปล่อยได้ โดยในการจะปล่อยนั้นต้องดำเนินการขออนุญาตล่วงหน้าจากผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอในพื้นที่นั้น ๆ ล่วงหน้า

ทั้งนี้กรณีผู้ประสงค์จะขออนุญาตทำการบินอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) ที่อยู่ในรัศมี 9 กิโลเมตรจากเส้นกึ่งกลางทางวิ่งของสนามบิน ต้องได้รับการอนุญาตจากสนามบินตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรื่อง แนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พ.ศ.2561 ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายซึ่งเป็นพื้นที่ที่นิยมปล่อยโคมลอย โดยในเขตพื้นที่ความปลอดภัยในการเดินอากาศบริเวณใกล้เคียง ทชม.และ ทชร.และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษระดับ 1 (พื้นที่สีแดง) ไม่อนุญาตให้ปล่อยโคมลอยไม่ว่าช่วงเวลาใด ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดระยะเวลาในการจุดหรือปล่อย คือ สามารถปล่อยโคมลอย โคมไฟได้ในวันที่ 15 – 16 พ.ย.67 ระหว่างเวลา 19.00 – 01.00 น. และปล่อยโคมควัน (ว่าวฮม) ได้ในวันที่ 15 พ.ย.67 ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น. สำหรับจังหวัดเชียงรายสามารถปล่อยโคมลอยได้ในวันที่ 14 – 16 พ.ย.67 ระหว่างเวลา 21.00 – 01.00 น. และปล่อยโคมควันได้ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น.

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยโคมลอยฯ ดังนั้นระหว่างวันที่ 15 – 16 พ.ย.67 มีสายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบิน และเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบิน ณ ทชม. จำนวน 154 เที่ยวบิน โดยมีเที่ยวบินที่ยกเลิก 66 เที่ยวบิน และเปลี่ยนแปลงเวลา 88 เที่ยวบิน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567) อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลลอยกระทงมีสายการบินขอทำการบินเที่ยวบินพิเศษ ณ ทชม.เพิ่มเติม 16 เที่ยวบิน
ดร.กีรติ กล่าวว่า ท่าอากาศยานของ AOT ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไทย โดยได้ตกแต่งพื้นที่และสร้างบรรยากาศช่วงเทศกาลลอยกระทงภายในอาคารผู้โดยสาร เช่น กิจกรรมลอยกระทง กิจกรรมประกวดนางนพมาศ และจัดซุ้มถ่ายภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างความประทับใจ และเผยแผ่ประเพณีที่งดงามของประเทศไทย
กฎหมาย กฎ กฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 59/1 และ 59/2
- พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 109/1 และ 109/2
- พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 24 และ 78
- พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 มาตรา 18 และ 19
- ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พ.ศ.2561.

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...วุฒิ-สมุทรปราการ.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้