"ภาคีเครือข่ายชุมชนสงขลา" ยื่นข้อเสนอถึงผู้ว่าฯช่วยเข้าถึงบ้านมั่นคง-ยั่งยืน

Last updated: 16 ต.ค. 2567  |  302 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ภาคีเครือข่ายชุมชนสงขลา" ยื่นข้อเสนอถึงผู้ว่าฯช่วยเข้าถึงบ้านมั่นคง-ยั่งยืน

ถือฤกษ์ "วันที่อยู่อาศัยโลก 67" ภาคีเครือข่ายชุมชนสงขลากว่า 200 คน รุดยื่นข้อเสนอ 3 ปมร้อนถึงผู้ว่าฯ หวังช่วยคนสงขลา 8,000 ครัวเรือนเข้าถึงบ้านมั่นคง และยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่บเนื่องจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนทั่วโลก จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกในทุกๆ ปี  เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้น ๆ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน


ส่วนในประเทศไทย  เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเครือข่ายพี่น้องคนจนเมือง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนริมราง เครือข่ายชุมชนคลองเตย  และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่มีความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยรวมตัวกันกว่า 2,000 คน ร่วมเดินขบวนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก World Habitat Day เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) หรือ UN ประจำประเทศไทยและยื่นข้อเสนอต่างให้กับรัฐบาลเพื่อคลีคลายปัญหาให้กับพี่น้องคนจนทั่วประเทศ



โดยในวันนี้ (16 ต.ค.)พี่น้องขบวนองค์กรชุมชน จ.สงขลา ประกอบด้วย พี่น้องเครือข่ายสลัม 4 และพี่น้องขบวนเมืองสงขลา กว่า 200 คน ร่วมเดินขบวนเพื่อยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อการแก้ไขปัญหาในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลา มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 8,000 ครัวเรือน และรวมทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ 35 จังหวัด  จำนวน 300 ชุมชน  รวม 27,084 ครัวเรือน



โดยพี่น้องขบวนจังหวัดสงขลา มีข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ ดังนี้ 1.ให้มีการปรับเกณฑ์การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในลักษณะนิติบุคคลให้ยกเว้นกรณีนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้โครงการที่รัฐสนับสนุน เช่น โครงการบ้านมั่นคง,โฉนดชุมชน เป็นต้น ให้เปลี่ยนเป็นการเก็บแปลงย่อยตามการถือครองจริง 2.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรียกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโครงการของรัฐไว้ก่อนจนกว่าการปรับเกณฑ์จะแล้วเสร็จ 3.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งกลไกร่วมในการสรุปแนวทาง และการติดตามแก้ไขปัญหาโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้มีการแต่งตั้ง ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567



ทั้งนี้การจัดดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นประธานร่วมรับฟังข้อเสนอ แลกเปลี่ยนกับพี่น้องเครือข่าย พร้อมด้วย นางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธ์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)สงขลา นายนราเดซ คำทัปน์ นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ผู้แทนเทศบาลเมืองคลองแห ผู้แทนสหกรณ์จังหวัดสงขลา ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

นายวันชัย กล่าว ว่า ทราบนโยบายและแนวทางในการพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง และหวังว่าเวทีในวันนี้จะช่วยผลักดันสู่เป้าหมายในเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องชุมชนในจังหวัดสงขลา กว่า 8,700 ครัวเรือน และสิ่งสำคัญต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน หรือหน่วยงานก็พร้อมให้การสนับสนุน ที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค และในเรื่องการประกอบอาชีพในวันนี้มีภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ พมจ.สงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช. )รวมทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่งร่วมรับฟังและให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางเทศบาลต้องเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อแก้ปัญหา ทางหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงต้องอาศัยภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาและที่สำคัญทางเทศบาลมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นางณิชาพัชฌ์ พมจ.สงขลา กล่าวว่า ประชาชนต้องรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในนาม พมจ.สงขลาให้ความสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งแรกที่ชุมชนต้องมีหากชุมชนมีบ้านที่มั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดีก็จะตามมาพมจ.ให้ความสำคัญอย่างมากกับที่อยู่อาศัยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนและกลไกในการพัฒนาร่วมกันตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลประชาชนและจะเป็นกลไกในการประสานเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปด้วยอย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายสุดขอบคุณทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อความมั่นคงของพี่น้องประชาชนผ่านกลไกการทำงานของพมจ. พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายได้มีการเสวนาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทิศทาง แนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการแก้ไขร่วมกันในทุกมิติเพื่อให้ชุมชนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ การจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนชุมชน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้โครงการที่รัฐสนับสนุน เช่นโครงการบ้านมั่นคง และเรื่องการขออนุญาตในการก่อสร้างบ้านมั่นคงในพื้นที่ และท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนได้รับสัญญาเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้วก็จะอนุญาตการก่อสร้างตามแผนของชุมชน เป็นต้น.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้