สปสช.ลงพื้นที่อยุธยาเยี่ยมชม “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน”

Last updated: 7 ก.ย. 2564  |  660 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สปสช.ลงพื้นที่อยุธยาเยี่ยมชม “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน”

สปสช.ลงพื้นที่อยุธยาเยี่ยมชม “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน” ผนวกพลัง 3 ตำบล ร่วมให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในระบบ HI-CI พร้อมวางมาตรการความปลอดภัย-ดูแลที่ครอบคลุม วางระบบดูแลส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเท่าทัน
 

วันที่ 7 ก.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางไปที่โรงเรียนวัดช่างทอง ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ทำเป็นศูนย์พักคอย อบต.เกาะเรียน เยี่ยมชมการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ช่วยจัดการหาเตียงในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) โดยมีสื่อมวลชลและผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ด้วยท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

นายศักราช อัมวงษ์ นายก อบต.เกาะเรียน เปิดเผยว่า อบต.เกาะเรียน ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอย “ศูนย์พักใจ เกาะเรียนไม่ทิ้งกัน” เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.เกาะเรียน ต.บ้านรุน และ ต.คลองสวนพลู ด้วยความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดช่างทอง โรงเรียนวัดช่างทอง กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. และชุมชน

สำหรับศูนย์พักคอยแห่งนี้ รองรับประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ที่ได้รับผลการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 แล้วแต่ไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน โดยการแจ้งผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ซึ่งได้มีการใช้พื้นที่อาคารเรียนโรงเรียนวัดช่างทอง และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการและการวางมาตรการเพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยแห่งนี้

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอยู่ในศูนย์พักคอยดังกล่าวจำนวน 25 ราย โดยภาพรวมล่าสุดของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.เกาะเรียน อยู่ในระบบ HI  มี 14 ราย มีความเสี่ยงสูงมี 27 ราย ต.บ้านรุน อยู่ในระบบ HI มี 1 ราย มีความเสี่ยงสูงมี  1 ราย และ ต.คลองสวนพลู อยู่ในระบบ HI มี30 ราย มีความเสี่ยงสูง มี 12 ราย

นายศักราช กล่าวอีกว่า การจัดเตรียมสถานที่ได้แบ่งอาคารเรียนออกเป็นโซน4โซนตามชั้น โดย ชั้นที่1 เตรียมไว้ สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อ ATK จำนวน59 เตียง   ชั้นที่2 สำหรับผู้ติดเชื้อCI หญิง จำนวน24 เตียง  ชั้นที่ 3 สำหรับผู้ติดเชื้อCIหญิง 24 เตียง ชั้นที่ 4 สำหรับผู้ติดเชื้อCIชายจำนวน24เตียง  รวม 131 เตียง แบ่งห้องสุขาเป็นชายและหญิง ในแต่ละชั้นจัดเตรียมระบบบำบัดน้ำเสียด้วยการเติมคลอรีนในการฆ่าเชื้อ มีการฉีดพ่นฆ่าน้ำยาฆ่าเชื้อสถานที่ศูนย์พักคอยและโดยรอบ แยกกำจัดขยะติดเชื้อโดยใส่ถุงแดง และจ้างบริษัทเอกชนในการกำจัดขยะติดเชื้อ มีการใช้พัดลมเพื่อการถ่ายเทและระบายอากาศแทนการใช้เครื่องปรับอากาศ  ในส่วนของผู้ป่วยได้มีการเตรียมถุงยังชีพเพื่อการดำเนินชีวิตในศูนย์พักคอย และของใช้มูลฐานที่จำเป็น มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอาหาร 3 มื้อพร้อมน้ำดื่ม มีการปิดล้อมกระชับพื้นที่แบ่งโซนชัดเจนจากชุมชนใกล้เคียง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้โดยรอบพื้นที่เพื่อเพิ่มระบบความปลอดภัย รวมถึงการเฝ้าระวังสังเกตอาการโดยเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน (BLS Team อบต.เกาะเรียน) และเจ้าหน้าที่ป้องกันฯ อบต.เกาะเรียน ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามภายในศูนย์พักคอยยังได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้น ได้แก่ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องให้ออกซิเจน เป็นต้น พร้อมทั้งการสนับสนุนของช่วยเหลือหรือของเยี่ยม โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยรับสิ่งของและประสานงาน รวมถึงมีการลำเลียงผู้ป่วยในกรณีรับผู้ป่วยมาพักคอยและการส่งต่อเข้ารับการรักษา ซึ่งปฏิบัติการโดยทีม SCOTT อบต.เกาะเรียน

“หากวัดค่าออกซิเจนผู้ป่วยในระหว่างที่รอการส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล และพบว่ามีค่าต่ำกว่าปกติมาก คือต่ำกว่า 95% ผู้ป่วยจะได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที โดยการแจ้งเข้าศูนย์สั่งการ 1669 และปฏิบัติการโดยทีม SCOTT อบต.เกาะเรียน พร้อมกับมีเครื่องให้ออกซิเจน ใช้สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีออกซิเจนต่ำกว่า 95% ระหว่างการรอส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาล” นายศักราช กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันโรคโควิด-19 ได้มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ รวมถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและ  มีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ดังนั้นเพื่อควบคุมการระบาดในวงกว้าง จากผู้สัมผัสใกล้ชิดภายในครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ สปสช. จึงสนับสนุนให้มีการจัดทำระบบ Home Isolation และการจัดตั้งศูนย์พักคอย Community Isolation

“ศูนย์พักคอยของเกาะเรียนแห่งนี้มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมดูแลของคนในชุมชน ทีมแพทย์จากโรงพยาบาล และ รพ.สต. ที่ร่วมดูแลรักษาคนไข้โควิด-19 ผ่านระบบแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เป็นตัวอย่างถึงบทบาทการดำเนินงานของ อปท. ที่จะมีส่วนช่วยในการควบคุมโรคระบาดภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการ สปสช. และคณะยังได้ร่วมกันมอบถุงน้ำใจพึ่งพา (Help Me Bag) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รวม 110 ถุง ซึ่งประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภค ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และชุดสิ่งของจำเป็น ให้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ในระบบ Home Isolation และ Community Isolation ด้วย.


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้