"กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา"เกาะติดสถานการณ์ความมั่นคง หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์"นั่งผู้นำสหรัฐ

Last updated: 31 ม.ค. 2568  |  119 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา"เกาะติดสถานการณ์ความมั่นคง  หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์"นั่งผู้นำสหรัฐ

กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา เกาะติดสถานการณ์ความมั่นคง หลังทรัมป์นั่งผู้นำสหรัฐ ชี้ไทยรักษาสมดุล-วางน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ และไทย-จีนให้ดีเพื่อประโยชน์ของคนไทย

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 327 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ครั้งที่ 5/2568 โดยมีพลเอกสวัสดิ์ ทัศนา ประธานกมธ.เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผลการประชุมพิจารณาสรุปสาระสำคัญดังนี้ การพิจารณารับฟังรายงานสถานการณ์ข้อมูลความมั่นคงและกิจการทหารในต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รายงานว่า 1.สถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังการขึ้นดำรงตําแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ซึ่งประกาศขับเคลื่อนนโยบาย America First และ Make America Great Again เป็นการฟื้นฟูความมั่นคงภายในประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับสังคม อาชญากรรม เศรษฐกิจ การเมือง ผู้อพยพและทุกบริบทในประเทศสหรัฐฯ



เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเห็นว่าคนอเมริกันเสียเปรียบนานาชาติหลายเรื่อง จึงเห็นควรดำเนินนโยบายดังกล่าว แต่การดำเนินนโยบายมีความขัดแย้งกับประเทศต่างๆ และการจำกัดสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ 2.ยุทธศาสตร์ประเทศสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทย มีการประเมินว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร นอกจากเงินช่วยเหลือที่ทางสหรัฐสนับสนุนอาจมีการระงับไว้ชั่วคราวเพื่อรอการพิจารณาว่ามีประโยชน์ต่อประเทศสหรัฐฯหรือไม่



สิ่งที่น่ากังวลสำหรับไทยคือ การให้ความสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ รวมทั้งไทยและจีน เพราะที่ผ่านมาไทยถูกตำหนิเข้าข้างทุกฝ่ายสลับกัน 3.ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกลไลหลักในการแลกเปลี่ยน แจ้งเตือนและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรม และการก่อการร้ายข้ามชาติ รวมทั้งร้องขอให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติหาข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ


นอกจากนี้ที่ประชุมหารือแลกเปลี่ยนประเด็นสถานการณ์ผู้อพยพอุยกูร์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐและจีน ซึ่งไทยต้องสร้างสมดุลให้ดี รวมทั้งสถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านกิจกรรมต่างๆ และยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นแบบมีส่วนร่วมจริงจัง.



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้