Last updated: 11 ม.ค. 2568 | 154 จำนวนผู้เข้าชม |
“เลขาฯอารี” รับเรื่องหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างยานภัณฑ์ถูกเลิกจ้างไม่ได้ค่าชดเชย พร้อมสั่งการหาแนวทางช่วยเหลือระยะยาว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 859 คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ถูกเลิกจ้าง และไม่ได้รับค่าชดเชย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 โดยมี เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากความเดือดร้อนของลูกจ้างบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 859 คน ที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าชดเชยนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเป็นห่วงพี่น้องแรงงานทุกท่าน และได้กำชับให้ทุกฝ่ายหาแนวทางช่วยเหลือและดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างอย่างเต็มที่ และในวันนี้ท่านได้สั่งการให้ตนเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะท่านทราบถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างทุกคน
จากการประชุมหารือในวันนี้ ที่ประชุมมีแนวทางในการช่วยเหลือดังนี้ กรณีลูกจ้างที่ยื่นคำร้อง คร.7 แล้ว จำนวน 265 คน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเร่งรัดการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ภายใน 27 มกราคมนี้ ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยลูกจ้างได้ขึ้นประกันการว่างงานกับสำนักงานประกันสังคมแล้วประมาณ 700 คน ให้กรมการจัดหางาน จัดหาตำแหน่งงานว่าง ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างมีงานทำแล้วจำนวน 80 คน และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์อื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
นายอารี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ติดตามเร่งรัดการดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงแรงงานบูรณาการให้ความช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิ โดยสำนักงานประกันสังคมเร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานจัดหางานเร่งรัดจัดหาตำแหน่งงานให้ลูกจ้างทำ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการฝึกอาชีพให้ลูกจ้าง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ที่ประชุมมีมติว่า “ให้ศึกษาแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างโดยวิธีอื่น เช่น การจัดตั้งกองทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันในการช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ไปยังลูกจ้างที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้อง คร.7 ขอให้มายื่นคำร้องโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป.