Last updated: 6 ม.ค. 2568 | 250 จำนวนผู้เข้าชม |
มทร.สุวรรณภูมิ จับมือ"จีน"จัดตั้งสถาบัน"ปั้น"บุคลากรร่วมป้องปรามทุจริต
นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะที่ปรึกษาโครงการหลักสูตรนวัตกรรมการตรวจสอบภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) เปิดเผยว่า วันนี้(6 มกราคม 68) ณ หนานจิง ออดิท ยูนิเวอร์ซิตี้ (NAU) มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)ด้านการศึกษาระหว่างประเทศ โดย รศ.ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มทรส. และ ศ.ดร. Lu Hauliang อธิการบดี NAU มี ผศ.ดร.ภาสพิรุฬห์ วัชระศรีสำเริง รองอธิการบดี มทรส. ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันร่วมภายใต้แนวคิด"สถาบันตรวจสอบและธรรมาภิบาลระหว่างประเทศโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"โดยจะจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างกัน ณ ที่ทำการของทั้ง 2 ประเทศ และร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ว่าด้วยการตรวจสอบ และสาขาวิชาอื่นในรูปแบบ Dual Degree Program ในระดับประกาศนียบัตร ปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาเพื่อสนองตอบนโยบายการป้องกันป้องปรามการทุจริตคอรัปชั่นของแต่ละประเทศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร ในรูปแบบ"ปริญญาคู่"รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาตามความเหมาะสม โดยมี นางสิรินทร์ แดงไชยวัฒน์ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ประสานการลงนาม
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรนวัตกรรมการตรวจสอบภาครัฐและเอกชน มทรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า หนานจิง ออดิท ยูนิเวอร์ซิตี้ เป็นสถาบันชั้นนำที่ผลิตบุคลากรด้านการตรวจสอบในแต่ละปีจำนวนมาก เพื่อป้อนภาครัฐ ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ในการป้องปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการฯจึงใช้เป็นต้นแบบนำมาปรับใช้และร่วมมือกันในการปฏิบัติด้านนี้ โดยเฉพาะความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดตั้งวิทยาลัย/การพัฒนาหลักสูตร และนำ AI มาใช้ในการตรวจสอบ /การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ตลอดจนจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติระหว่างกันด้วย โดยคณะศิลปศาสตร์ มทรส.จะเป็นหน่วยหลักในการดำเนินงานในประเทศไทย ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะศิลปศาสตร์ ได้มีการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 4 รุ่น จำนวน 431คน และเตรียมพร้อมจัดตั้งวิทยาลัยด้านการตรวจสอบ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2569 เพื่อมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตและบุคลากรด้านการตรวจสอบเป็นการเฉพาะ ป้อนทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ขาดแคลนบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก เพื่อร่วมกันป้องปรามการทุจริตในประเทศไทย ให้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น.