Last updated: 22 พ.ย. 2567 | 213 จำนวนผู้เข้าชม |
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเวทีเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง มุ่งเป้าบริหารจัดที่ดี-วางแผนการดำเนินงานสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยใช้สหกรณ์และบัญชีเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสหกรณ์
ระหว่างวันที่ 22-23 พ.ย.นายธาราศานต์ ทองฟัก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง เปิดเวทีประชุมสร้างความเข้าใจ และวางแผนการดำเนินงานสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยมีนายธนรัฐ โคจรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า และผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้แทนเครือข่าย ชมฟ. ผู้แทนเครือข่ายชุมชนริมราง ร่วมประชุม จำนวนกว่า 65 คน ที่โรงแรมเอสบางกอก กทม.
นายธาราศานต์ ผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้านมั่นคงเมืองและชนบท บ้านมั่นคงชุมชนริมคลอง และบ้านมั่นคงชุมชนริมราง เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อมชุมชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิต และความสามารถในการบริหารจัดการของชุมชนสู่ความเข้มแข็งโดยชุมชนเป็นแกนหลัก พอช.ได้นำระบบสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคงเข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้ “โครงการสหกรณ์บ้านมั่นคง” โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือ การให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา และจัดการตนเอง โดยมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด และการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ
สำหรับเนื้อหา และประเด็นสำคัญในการประชุมในครั้งนี้คือ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานงบประมาณภายใต้สหกรณ์ กำหนดทิศทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการวางแผนการดำเนินงาน และงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค แลกเปลี่ยนการดำเนินงานที่ผ่านมา ทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานสหกรณ์ สรุปบทเรียนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้สหกรณ์ไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านนายธนรัฐ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2566 กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนงานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคง ได้แก่ การฟื้นฟูและพัฒนาสหกรณ์ให้สามารถปิดบัญชีได้ ไม่ขาดทุน ปลอดการทุจริต สมาชิกอยู่ดีกินดี สามารถลดหนี้ได้ การส่งเสริมและกำกับการดำเนินงานสหกรณ์บ้านมั่นคง ในด้านปิดบัญชีได้ มีกำไรและการเข้าตรวจเยี่ยม และร่วมประชุมกับสหกรณ์ รวมทั้งจัดตั้งสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้สหกรณ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 90% และสหกรณ์มีความเข้มแข็ง สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง
สหกรณ์บ้านมั่นคงถือเป็นสหกรณ์บริการ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่เนื่องจากสหกรณ์ต้องดูแลสมาชิกดังนั้น เป้าหมายหลักของสหกรณ์ทุกประเภท เน้นการจัดสวัสดิการ เพื่อความเข้มแข็งของสหกรณ์จึงต้องมีผลประกอบการด้านกำไรเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิก ดูแลสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย สวัสดิการดังกล่าวมุ่งหวังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก และตามข้อบังคับของสหกรณ์สามารถดำเนินการได้หลายส่วน อาทิ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ส่งเสริมด้านอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิก หรือในอนาคตสามารถจัดตั้งเป็นสถาบันการเงิน เป็นทุนสำรองภายในของสมาชิกได้ ในส่วนความร่วมมือของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดความรู้ด้านการสหกรณ์แก่กลุ่มออมทรัพย์ที่ พอช. จัดตั้งขึ้น เพื่อให้กลุ่มออมทรัพย์มีความพร้อมในการจัดตั้งสหกรณ์ในระดับพื้นที่และระดับนโยบายให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ สนับสนุนวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ด้านการดำเนินกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีพนักงานจัดทำบัญชีของสหกรณ์ และร่วมให้ความรู้ในด้านการจัดทำบัญชีสหกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด สหกรณ์มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลมีแผนการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ชัดเจน
นางณัฐนิชา หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน กล่าวว่า ในการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำการบริหารงบประมาณภายใต้สหกรณ์ ได้แก่ กรอบงบประมาณโครงการ รายละเอียดงบประมาณแต่ละหมวด และรูปแบบ วิธีการดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งสหกรณ์ต้องทราบถึงรายละเอียดข้อบังคับ ระเบียบ และการบริหารของสหกรณ์ภายใต้บ้านมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการที่ชุมชนแต่ละพื้นที่ จะพัฒนาโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จึงมีความจำเป็นต้องมีการเสริมทักษะความรู้ ความเข้าใจด้านสหกรณ์ และในส่วนความคืบหน้าโครงการหนุนเสริมพัฒนาระบบสหกรณ์ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ปัจจุบันสามารถจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ในการดำเนินงานแล้ว 13 สหกรณ์ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 9 สหกรณ์ และจะขยายการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อการบริหารจัดการที่ดีของสหกรณ์ต่อไป
ในช่วงท้ายนายคมสันติ์ จันทร์อ่อน ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค และนายฐิติพล น้อยจาด ผู้แทนสหกรณ์ชุมชนริมคลอง และผู้เข้าร่วมเวทีร่วมแลกเปลี่ยนการบริหารจัดการที่ดีของสหกรณ์ สิ่งสำคัญสมาชิกต้องมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานรวมถึงติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ อาทิ กรณีที่จะจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน สหกรณ์ต้องทำสัญญากับผู้รับเหมา สมาชิกทุกคนต้องรับทราบข้อมูล และทุกครั้งที่จะมีการเบิกงบประมาณ ต้องมีมติที่ประชุมทุกครั้ง เพื่อประสิทธิผลที่ดีขององค์กร และสหกรณ์แต่ละที่ ซึ่งเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน คือ การอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกเพราะสมาชิกเป็นเจ้าของและลูกค้าของสหกรณ์ ดังนั้นต้องมีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เพื่อเป็นทิศทางและเป้าหมายในการบริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ.
จิราวรรณ หนำคอก
สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง:รายงาน