Last updated: 30 ต.ค. 2567 | 277 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผนึกกำลังกองทัพไทย ฝึกทักษะทหารก่อนปลดประจำการ ตั้งเป้าปี 2568 ประเดิม 7 จังหวัด 280 คน
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การฝึกทักษะด้านอาชีพให้แก่ทหารก่อนปลดประจำการ เป็นอีกภารกิจที่กรมดำเนินการอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1,000 นาย ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งทหารกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะได้รับการฝึกความมีระเบียบ วินัย และความอดทน ที่รับจากการฝึกตามกฎระเบียบของค่ายทหารมาเป็นอย่างดี การฝึกทักษะด้านอาชีพจึงเป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถให้แก่ทหารหลังจากปลดประจำการแล้ว สามารถกลับไปทำอาชีพอิสระตามภูมิลำเนา หรือเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบกิจการได้
ดังนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงร่วมกับกระทรวงกลาโหมพัฒนาทักษะให้แก่ทหารประจำการ ก่อนปลด และครูฝึกทหารซึ่งประจำการอยู่เกือบทุกจังหวัด ปี 2568 มีเป้าหมายรวมทั้งหมด 1,200 คน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ทหารกองประจำการให้มีทักษะฝีมือสามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ภายหลังจากปลดประจำการ ในครั้งนี้กรมฯร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทยจัดฝึกอบรมให้แก่ทหารกองประจำการ วางแผนจัดฝึกอบรมในพื้นที่ของค่ายทหาร 7 จังหวัด ใน 7 หลักสูตรปี 2568 รวม 280 คน
นายเดชา กล่าวต่อว่า แผนการฝึกอบรมใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย 1. เชียงใหม่ วันที่ 6-17 ม.ค. 68 หลักสูตรการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ต้นกำลังขนาดเล็ก การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ 2. เพชรบุรี วันที่ 20-31 ม.ค. 68 หลักสูตรการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า การก่ออิฐ ฉาบปูน 3. สุราษฎร์ธานี วันที่ 17-28 ก.พ. 68 หลักสูตรการตัดผมชายเบื้องต้น การก่ออิฐ ฉาบปูน 4. น่าน วันที่ 10-21 มี.ค. 68 หลักสูตรการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ 5. อุดรธานี วันที่ 19-30 พ.ค. 68 หลักสูตรการเชื่อมไฟฟ้าเบื้องต้น การตัดผมชายเบื้องต้น 6. นครราชสีมา หลักสูตรการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ต้นกำลังขนาดเล็ก การเชื่อมไฟฟ้าเบื้องต้น และ 7. ลพบุรี วันที่ 14-25 ก.ค. 68 หลักสูตรการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ การเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า
นอกจากนี้กรมยังจัดฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของทหารกองประจำการ ในหลักสูตรเทคนิคการสอนงานและทักษะวิชาชีพ ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง จำนวน 30 คน เพื่อเป็นวิทยากรต้นแบบนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลให้แก่ทหารกองประจำการ และทหารก่อนปลดประจำการต่อไป ซึ่งผู้จบการฝึกอบรมทั้งหมดจะได้รับวุฒิบัตรจากกรมด้วย
“นอกจาก 7 หลักสูตรข้างต้นที่จัดฝึกอบรมแล้ว กรมกำลังพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมอีกหนึ่งหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับทหารก่อนปลดประจำการ คือ หลักสูตรการประยุกต์ระบบโซล่าเซลล์เพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กำลังได้รับความนิยมทางด้านการเกษตรสามารถประกอบอาชีพได้ทุกพื้นที่ หมดห่วงเรื่องไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ การทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว อีกทั้งยังสร้างรายได้เสริมให้แก่ทหารหลังปลดประจำการ” นายเดชา กล่าวทิ้งท้าย.