Last updated: 29 ต.ค. 2567 | 204 จำนวนผู้เข้าชม |
‘ปลัดบุญสงค์’ มอบนโยบายกำชับทูตแรงงาน รุกขยายตลาดดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน
วันที่ 15 ต.ค.นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานในต่างประเทศ สำหรับอัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน ที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานในต่างประเทศทุกแห่ง โดยมีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวนันทินี ทรัพย์ศิริ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร จัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน รวมถึงผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมฯ ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน และผ่านระบบ Video Conference
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า บทบาทของทูตแรงงานหรือสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดูแลและช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการดูแลคุ้มครองแรงงานให้ได้รับความคุ้มครอง เป็นธรรม ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ และการขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ
ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) 2) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3) สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น 4) สำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง 5) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป 6) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง 7) สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย 8) สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ 9) สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน 10) ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล 11) ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และ 12) ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
นายบุญสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงแรงงานยังคงตั้งเป้าที่จะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ และนำกลับมาพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยม คือ ไต้หวัน รัฐอิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้พี่น้องแรงงานไทยมีรายได้ที่มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อีกทั้ง ได้นำความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน กลับมาพัฒนาตนเอง นำมาถ่ายทอดให้กับสมาชิกในครอบครัว หรือคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศ เพิ่มรายได้ และยกระดับ GDP ของประเทศไทยด้วย
“บทบาทและภารกิจของสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมแรงงานทักษะฝีมือให้มีโอกาสได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้น และรักษาตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศได้อย่างมีดุลยภาพในแต่ละตำแหน่งงาน และสาขาวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนตามสัญญาจ้างงาน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขอให้ทุกท่านดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงรุก ขยายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มาใช้ในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมให้แรงงานไทยทำงานที่มีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงปฏิบัติภารกิจร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว.