Last updated: 15 มิ.ย. 2567 | 514 จำนวนผู้เข้าชม |
จังหวัดราชบุรีร่วมกับม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง-วัดเขาช่องพราน และภาคีเครือข่าย ร่วมเสวนาผลักดันโครงการฟื้นฟูบูรณะมณฑปโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์บนวัดเขาช่องพราน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว
เมื่อวันก่อน ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมการเสวนาและประชุมเรื่อง แนวทางการบูรณะมณฑปและบันไดทางขึ้นวัดเขาช่องพราน โดยนางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าฯราชบุรี เป็นประธานเปิดการเสวนา ที่ห้องประชุมวัดเขาช่องพราน ต.เตาปูน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พร้อมด้วยนายศุภชัย ครุฑดำ นายอำเภอโพธาราม นางศาริสา จินดาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี อาจารย์ดร.ธนภูมิ ชาติดี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายสิงหา สิทธิกูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.เตาปูน ผู้แทนนายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.ราชบุรี เขต 3 อาจารย์นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์ ประธานสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตรฺ์และสังคมศาสตร์ และคณะอาจารย์ เครือข่ายชุมชน ร่วมเสวนาและประชุมในครั้งนี้
โดยพระครูวิรุฬธรรมวงศ์ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอโพธาราม เลขานุการเจ้าอาวาสวัดเขาช่องพราน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา จากนั้นผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านกล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามณฑปโบราณของวัดเขาช่องพรานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อาจารย์นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์ นำเสนอและรายงานผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ที่ผ่านมา และผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน ชี้แจงแนวทาง รูปแบบ ขั้นตอนการบูรณะบันไดทางขึ้นและมณฑปวัดเขาช่องพรานและจากการเสวนาประชุมร่วมกัน ก็จะมีการผลักดันและระดมทุนสนับสนุนโครงการ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และต่อยอดไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรีต่อไป
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ กล่าวว่าการบูรณมณฑปวัดเขาช่องพราน ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการอนุรักษ์โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่อายุเกือบ 160 ปี เป็นโบราณสถานที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ถูกลืมไป ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ค้นพบและชวนชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนร่วมกันบูรณะ ตอนหลังทางจังหวัดราชบุรี ทางกรมศิลปากรเข้ามาเพื่อทำให้ถูกต้องทางวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าบูรณะเรียบร้อยแล้วคิดว่า โบราณสถานแห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ครู อาจารย์ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี และสิ่งนี้จะทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจ ในท้องถิ่นของตนเอง และในบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สิ่งที่สำคัญนอกจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็คือการพัฒนาทางด้านการศึกษา เพื่อให้คนในพื้นที่มีความเข้าใจในท้องถิ่นของตนเอง รักและหวงแหนในการช่วยกันดูแลรักษาไว้ ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป นับเป็นสิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันที่ต้องช่วยกัน
สำหรับมณฑปเก่าบนเขาวัดเขาช่องพรานแห่งนี้ จากการลงพื้นที่ของทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงตามโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ได้มีการทำประชาคมชาวบ้านและผู้นำชุมชน ในการประสานความร่วมมือ ในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งทางสำนักโบราณคดีที่ 1 ราชบุรี ได้มาสำรวจเบื้องต้นพบว่า มณฑปร้างบนเขาวัดเขาช่องพราน สร้างขึ้นในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 มีความสำคัญในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และชาวบ้านและชุมชนก็มีความต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาบูรณะปฏิสังขรและอนุรักษ์พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นต่อไป ซึ่งความคืบหน้าทางสำนักโบราณคดีที่ 1 ราชบุรีได้มีการสำรวจออกแบบในการบูรณะ ตามแผนโครงการและการอนุมัติแบบจากกรมศิลปากรและขอรับการสนับสนุนงบอุดหนุน ปี 2668 และอีกส่วนหนึ่งชุมชน พื้นที่ ท้องถิ่นได้ลงขันโดยการรับบริจาคเพื่อดำเนินโครงการร่วมกับกรมศิลปากร โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง วัดเขาช่องพรานและภาคีเครือข่ายจะร่วมดำเนินการเพื่อการบูรณะมณฑป โบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดราชบุรีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และต่อยอด ไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรีต่อไป.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...รังสี ลิมปิโชติกุล-ราชบุรี.