นอภ.นำนร.ลงแขกดำนาปลูกข้าว อาหารกลางวัน-สืบสานวิถีชีวิตชาวนาไทย

Last updated: 30 พ.ย. 2566  |  267 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอภ.นำนร.ลงแขกดำนาปลูกข้าว อาหารกลางวัน-สืบสานวิถีชีวิตชาวนาไทย

เรื่องดีดีในสังคม...นักเรียนโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 อ.เบตง จ.ยะลา ร่วมกิจกรรมลงแขกดำนา ปลูกข้าวเพื่ออาหารกลางวัน พร้อมสืบสานวิถีชีวิตชาวนาไทย

วันก่อน (29 พ.ย.) ที่แปลงนาสาธิต ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง เป็นประธานเปิดกิจกรรมลงแขกดำนา ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ตามโครงการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 เพื่อให้นักเรียนได้เห็นคุณค่า และตระหนักถึงความสำคัญของข้าวเป็นการสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปลูกข้าวทำนาดำ ระหว่างผู้บริหาร ครู นักเรียนผู้ปกครอง และชุมชน ได้เรียนรู้การปลูกข้าวดำนาจากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้าน สามารถทราบถึงขั้นตอนในการสีข้าว และเก็บไว้เพื่อใช้บริโภค สำหรับเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ครู นักเรียน ผู้ปกครองเข้าร่วม

นางสาวคาดียะห์ อามานะกุล ผอ.โรงเรียนสังวาลย์วิท 5 กล่าวว่า โรงเรียนสังวาลย์วิท 5 เป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (โรงเรียนสมเด็จย่า) ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ และเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 3 ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สนับสนุนส่งเสริมให้คณะครูและบุคลากร รวมถึงนักเรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง เป็น "ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา"

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า คณะครูได้มีวิธีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรมอยู่หลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาในบ่อดิน การปลูกพืชผักสวนครัว การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การปลูกข้าว ทำนา ในแปลงนาสาธิต บนพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา รวมถึงการปลูกผลไม้ตามฤดูกาล ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง กล้วย ขนุน กระทอน มะยงชิด มะละกอ และต้นอ้อยบนพื้นที่ของโรงเรียนรวม 24 ไร่ 3 งาน ส่งผลให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนสามารถเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาเป็นวิถีปฏิบัติ มีทักษะการดำรงชีวิต และทักษะชีวิตได้อย่างแท้จริง

ด้าน ด.ช.สุริยพล นักเรียนโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 กล่าวว่า พ่อแม่เคยเล่าว่าเมื่อก่อน อ.เบตง เคยมีพื้นที่ปลูกข้าว แต่มีไม่มากเนื่องพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงหันมาปลูกต้นยางพาราแทน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มาเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อย่างตนไม่เคยเห็นแปลงนาและไม่เคยดำนามาก่อน กิจกรรมครั้งนี้ ตนได้มีโอกาสลองดำนากับเพื่อน ๆ นักเรียน เพื่อสืบสานวิถีชีวิตชาวนาไทย และเพิ่มทักษะชีวิตในการปลูกข้าวจะได้นำข้าวที่ได้มาเป็นอาหารมื้อกลางวันให้กับนักเรียนในโรงเรียน และจะสำนึกบุญคุณของชาวนาที่ปลูกข้าวให้เราได้กินเสมอมา เพราะข้าวแต่ละเม็ดได้มาอย่างยากลำบาก ต่อไปตนจะกินข้าวให้หมดจาน เพื่อขอบคุณชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ.


ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...เจษฎา สิริโยทัย-ยะลา.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้