Last updated: 1 มี.ค. 2566 | 532 จำนวนผู้เข้าชม |
สสส.จัดเวทีผลักดัน กลไกชุมชนนำ ถอดแบบ “พระธาตุโมเดล” สร้างเด็กเป็นศูนย์กลาง
เมื่อวันก่อน (28 ก.พ.)ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมหารือ “เวทีผลักดันนโยบายเด็กปฐมวัยเปราะบาง จังหวัดมหาสารคาม” โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ เครือข่ายเด็กและเยาวชนตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จ.มหาสารคามเข้าร่วม
นางสาวเบญจพร พานิชยกุล นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ ผู้แทนสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ( สำนัก 4 ) กล่าวว่า ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ มีพันธกิจตามกฏหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว รับผิดชอบโดย สํานักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สํานัก 4) ทําหน้าที่กระตุ้น หนุนเสริม และสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่ผ่านมาทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) ได้ดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาโมเดลต้นแบบในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครื่อข่ายเด็กและเยาวชนตําบลพระธาตุ อําเภอนาดูน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (Health Net) ร่วมกันทำงานในรูปแบบ“ พระธาตุโมเดล ” ซึ่งใช้แนวคิด “ เด็กเป็นศูนย์กลาง ” เน้นการสร้างระบบนิเวศเพื่อสร้างอาชีพและสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัวเปราะบาง สร้างกลไกการทํางานที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในเรื่องพัฒนาการเด็ก ทุกช่วงวัย รวมถึงการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการตระหนักถึง ความสําคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเด็กปฐมวัย และเกิดเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับชุมชน จนมีผลการแก้ไขปัญหา อย่างเป็นรูปธรรม
โดยปี 66 นี้ ทาง สสส.ได้สนับสนุนการถอดบทเรียนเพื่อเตรียมขยายผลภายใต้การดําเนินงานของโครงการพัฒนาความร่วมมือและนโยบายแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างนิเวศของการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเปราะบาง ระดับ พื้นที่ ถือว่าโครงการฯดังกล่าว เป็นโครงการที่พัฒนาความร่วมมือและนโยบายแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างนิเวศของการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเปราะบางระดับพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการเชื่อมต่อกลไกทางนโยบายและการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม ในระดับพื้นที่ที่มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กแบบไร้รอยต่อ ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในภาวะเปราะบาง และได้มีแนวคิดเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เกิดการขยายผลเพื่อสร้างต้นแบบรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาเด็กและครอบครัวเปราะบางไปยังพื้นที่ใกล้เคียง อย่างน้อยอำเภอละ 1 ตำบล
ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการทำงานของเครื่อข่ายเด็กและเยาวชนตําบลพระธาตุ อําเภอนาดูน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (Health Net) ร่วมกันทำงานในรูปแบบ “ พระธาตุโมเดล ” ซึ่งใช้แนวคิด กลไกชุมชนนำ โดยใช้ “ เด็กเป็นศูนย์กลาง ” มีกระบวนการขับเคลื่อน ในเบื้องต้นระยะเวลา 3 ปี ปีที่ 1 ก่อร่าง ได้แก่การจัดตัเงทีมทำงาน สำรวจข้อมูล เก็บข้อมูล จำแนกประเภทเด็ก ทำแผนที่เดินดิน สร้างแกนทีมทำงาน จัดการปัญหาเด็ก ปีที่ 2 การสร้างโค้ชชุมชน การปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องสิทธิเด็ก การวิเคราะห์ข้อมูล นิยามเด็ก การแยกประเภทกลุ่มเด็ก เขียว เหลือง แดง เริ่มการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ส่วนปีที่ 3 การติดตามประเมินผล สร้างระบบการติดตามประเมินผล การเพิ่มเคตรื่องมือ การจัดการการทำงานเฉพาะประเด็น การเสริมสร้างศักยภาพ รวมไปถึง การช่วยเหลือ ส่งต่อ
ปัญหากลุ่มเด็กปฐมวัยเปราะบาง พบว่าปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยเติมเต็มระบบนิเวศในการคุ้มครองเด็กปฐมวัยเปราะบาง ให้มีสุขภาวะเติบโตเต็มศักยภาพนั้น จะต้องเริ่มจาก ครอบครัว ชุมชน ในการให้ความรู้ มีทีมกลไกชุมชนในการขับเคลื่อน มีชุดองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับครอบครัวในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงมีเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับชุมชน ในการให้ความช่วยเหลือส่งต่อ ไปจนถึงนโยบายของการมีส่วนร่วม ของภาครัฐ และ ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นโค้ชพี่เลี้ยง จากเครือข่ายเด็กและเยาวชน รวมไปถึง โค้ชชุมชน จากหน่วยงานภาครัฐ และ ภาคประชาสังคม
นายศักดิ์ชัย ไชยเนตร รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ ( Health Net ) กล่าวเสริมว่า พระธาตุโมเดลนั้น มีฐานคิดที่ว่า เด็กทุกคนคือลูกของชุมชน เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนรวม ชุมชนร่วมกันจัดการปัญหา มองเด็กเป็นศูนย์กลาง เชื่อมั่นในศักยภาพ ก้าวข้ามขีดจำกัด โดยมีกระบวนการทำงานที่ต้องเข้าถึงครอบครัว สร้างความเข้าใจกับครอบครัว วิเคราะห์ปัญหา ออกแบบการช่วยเหลือแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ครอบครัว และ ชุมชน ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันจะดการปัญหา ติดตามอย่างเป็นระยะ รวมถึงการส่งต่อเคส ท้ายสุดคือการสร้างกลไกการทำงานและให้ความช่วยเหลืออย่างเข็มแข็ง สร้างความเข้าใจร่วมกันในปัญหา ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา
นายเสาร์ศิลป์ เพ็งสุวรรณ เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพระธาตุโมเดล พบว่าการทำงานกับเด็กปฐมวัยเปราะบางนั้น เบื้องต้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ก้าวข้ามปัญหา การมองโลกและสังคม สร้างแนวคิดการมีส่วนร่วม การจัดความสัมพันธ์ใหม่ พัฒนาระบบการจัดการ รูปแบบการช่วยเหลือ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ ท้ายสุดสามารถก่อให้เกิด ข้อมูลและนำไปเป็นคู่มือได้ต่อไป ทั้งขยายรูปแบบการช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยเปราะบางไปยังพื้นที่อื่นๆใน จ.มหาสารคาม จนนำไปสู่จังหวัดต้นแบบในการปกป้องคุ้มครองเด็กปฐมวัยเปราะบาง
นายเกีรยติศักดิ์ กล่าวสรุปปิดท้ายว่า การแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กปฐมวัยเปราะบาง ถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ จ.มหาสาราคาม การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กปฐมเปราะบาง ในพื้นที่ตำบลพระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ถือว่าเป็นโมเดลที่สำคัญในการได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวชุมชนเอง องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสนใจและดำเนินการอย่างเข็มแข็ง จนเกิดเป็นพระธาตุโมเดล ขึ้น ทั้งนี้อยากให้พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดฯได้นำต้นแบบ พระธาตุโมเดลเข้าไปช่วยกันแก้ไขปัญหา กลุ่มเด็กปฐมวัยเปราะบางในพื้นที่ของตัวเอง และหวังว่าอย่างน้อยก็จะเกิดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กปญฐมวัยเปราะบางอย่างน้อย 1 อำเภอ 1ตำบล.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...หนุ่ม-รังษี