กรมการปกครองเปิดหลักสูตร การพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาฯ

Last updated: 16 ก.ย. 2565  |  813 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรมการปกครองเปิดหลักสูตร การพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาฯ

กรมการปกครองจัดทำ “หลักสูตรการพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาฯ(DOPA Investigation Training)” ให้พนักงานฝ่ายปกครองเข้าเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เผยใครผ่าน10 บทเรียน รับประกาศนียบัตรจากอธิบดีฯ


วันที่ 16 ก.ย.ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการสืบ เปิดเผยว่า เนื่องจากบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม โดยทุกภาคส่วนมีบทบาทเชิงรุกร่วมกันในทุกขั้นตอนของการค้นหาความจริง บูรณาการทรัพยากรและการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินงานอย่างสอดประสานในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านการอำนวยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงไปตรงมาเป็นธรรม ต่อมาวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เพิ่มเติมกระทรวงกลาโหมเข้ามาร่วมใน MOU ด้วย รวมเป็น 6 หน่วยงาน



ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสืบสวนสอบสวนให้กับพนักงานฝ่ายปกครอง และรองรับการขับเคลื่อน MOU ความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาดังกล่าว กรมการปกครองจึงได้พัฒนาและจัดทำ “หลักสูตรการพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของพนักงานฝ่ายปกครอง (DOPA Investigation Training)” โดยให้พนักงานฝ่ายปกครองเข้าเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ในระบบ Intranet ของกรมการปกครอง

หลักสูตรประกอบด้วยชุดความรู้ต่างๆ (Serial lessons) จำนวน 10 บทเรียน ดังนี้ บทที่ 1.การสืบสวน บทที่ 2.การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด บทที่ 3.การจับ ค้น ยึด บทที่ 4.การจัดทำบันทึกการจับกุม บทที่ 5.หมายค้น หมายจับ บทที่ 6.การรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ บทที่ 7.การทำสำนวนเปรียบเทียบปรับ บทที่ 8.การทำสำนวนสอบสวน ศาลแขวง บทที่ 9.การทำสำนวนสอบสวน ศาลจังหวัด บทที่ 10.การแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองคนใดได้ศึกษาเรียนรู้ครบทั้ง 10 บทเรียน และทำการทดสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรแสดงการผ่านหลักสูตรดังกล่าวจากอธิบดีกรมการปกครอง ผ่านทางระบบดังกล่าวทันที



ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญาฯ กล่าวต่อว่า หลังจากเมื่อวันที่ 12 – 13 ก.ย. กรมการปกครองได้จัดโครงการฝึกอบรมการชันสูตรพลิกศพในบทบาทของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมบางกอก พาเลส กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองจากส่วนกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม ในกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือความตายที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง หรือพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไป มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานอัยการ ตำรวจ(พนักงานสอบสวน) และแพทย์

โดยในการฝึกอบรมดังกล่าวมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนจากกรมการปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยกองการสื่อสาร กรมการปกครอง ได้มาบันทึกวีดีโอการสอนไว้แล้ว ดังนั้น เร็วๆ นี้กรมการปกครองก็จะมีการพัฒนาและจัดทำ “หลักสูตรชันสูตรพลิกศพในหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครอง (Administrative Inquiry Officials’ Inquest Training )” เรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) เพิ่มเติมเข้ามาอีก ในส่วนนี้ก็จะเป็นการรองรับการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่ขณะนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งฝ่ายปกครองทั้งสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ในกรุงเทพฯ และอำเภอในส่วนภูมิภาค ต้องรับแจ้งการจับกุมหรือการควบคุมบุคคล และยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลไต่สวนหรือทำการสอบสวน หากมีการกระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อไป



ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปพนักงานฝ่ายปกครองทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จะได้พัฒนาองค์ความรู้ในด้านการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินการต่างๆ ตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบถ่วงดุล (Check and balance) หรือเป็นหลักประกันความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้ต่อไป.

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...กรมการปกครอง.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้