Last updated: 16 ก.ค. 2564 | 1329 จำนวนผู้เข้าชม |
ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู้โควิดฯ...”ชุมชนคุณธรรมวังตะกู” บ้าน-วัด-ราชการ-โรงเรียนฯมุ่งบูรณาการสร้างสรรค์ “เมืองต้นแบบอาหารปลอดภัย”ทำเอง-ปลูกเอง-กินเอง เหลือแบ่งปัน เผยนำสมุนไพรที่ปลูกไปช่วยเหลือผู้กักตัวรักษาเบื้องต้นจากไวรัสนรก โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิปันสุข ม.ราชภัฏนครปฐม และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพนครปฐม และ สสส.
ต้องบอกว่าเดือดร้อนกันถ้วนหน้า...สำหรับสถานการณ์โควิดฯที่กำลังเล่นงานประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นสงครามโรคที่กลืนกินชีวิตมวลมนุษย์ชาติไปแล้วมากมาย อีกทั้งเจ้าไวรัสนรกยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดคร่าชีวิตผู้คนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเพิ่มแสนยานุภาพกลายพันธ์ในการทำลายล้างขึ้นไปอีก...สาหัสเดือดร้อนกันไปทั่วโลก...การรับมือบริหารจัดการสู้กับสงครามโรคครั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำของประเทศนั้นๆว่ามีวิสัยทัศน์-การทำงานอย่างไร...รับมือเร็ว-แก้ไขถูกจุดก็จะลดความสูญเสียของคนในชาติได้ หากช้าอืดอาด-แก้ไม่ตรงจุด-พิธีการเยอะ...ผลคือประชาชนติดเชื้ออาการโคม่า-ตายเกลื่อนรายวัน
ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์ออนไลน์
ทั้งนี้แต่ละประเทศได้งัดมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อหาทางยับยั้งเจ้าโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นปิดประเทศ-ปิดเมือง-ล็อกดาวน์พื้นที่อันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างฯ โรงงาน สถานบริการ ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯลฯ ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือประชาชนได้รับผลกระทบเต็มๆ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาจึงเกิดขึ้น แต่การเยียวยาของภาครัฐฯบางเรื่องมีเงื่อนไข-กฎเกณฑ์จนน่าปวดหัว ยกตัวอย่างค่าไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้ 1. หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง 2. หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 (ยังมีรายละเอียดเพิ่ม)
จะเยียวยาทั้งทีไม่ต้องเลือกให้เฉพาะพื้นที่ล็อกดาวน์ก็ได้ จัดไปเลยลดค่าไฟฟ้าให้คนไทยทุกบ้านทุกครัวเรือน 50 เปอร์เซ็นต์ รัฐช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง คนเขาเดือดร้อนทั่วประเทศครับท่าน...พูดถึงการช่วยเหลือโดยไม่มีข้อแม้ ช่วยด้วยใจ...คอลัมน์ “สิ่งดี ๆ ในสังคม”มีตัวอย่างดี ๆ ให้ชมเกี่ยวกับบ้าน-วัด-ชุมชน-โรงเรียน-ราชการ ที่ร่วมมือกันบูรณาการงานสร้างสรรค์ “เมืองต้นแบบอาหารปลอดภัย”ดำเนินชีวิตตามหลักวิถีพอเพียง ปลูกเอง-กินเองที่เหลือนำไปแจกจ่ายให้กับคนที่ลำบาก ยิ่งในยามที่ผู้คนได้รับผลกระทบจากโควิดฯ โครงการดังกล่าวถือว่าสร้างประโยชน์ให้กับสังคมเป็นอย่างมาก
พระครูปลัดสาธุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดวังตะกู เจ้าคณะตำบลทัพหลวง อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวว่า เป้าหมายแรกเริ่มของโครงการนี้ คือ การพัฒนาแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่รกร้างของวัดวังตะกูให้กลายเป็นแปลงผักที่ปลูกทั้งผักตลาด ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว และสมุนไพร รวมทั้งไม้ดอก ไม้ผล มีเล้าไก่ไข่เลี้ยงไก่ดำ และไก่ตะเภาทอง โรงปุ๋ยหมัก และโรงเรือนเพาะเห็ดที่ประยุกต์มาจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผู้สนใจ และเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับคนในชุมชนฯ เศรษฐกิจแบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ๆ อะไรที่ทำได้ช่วยได้ก็ต้องทำ
“พื้นที่นี้เป็นของวัดก็จริง แต่ชุมชนฯเข้ามาใช้ เขาก็เข้ามาช่วยกันปลูก ช่วยกันรดน้ำ มาเก็บผัก เรื่องพวกนี้อาตมาไม่หวง วัดมีหน้าที่ในด้านสาธารณะสงเคราะห์อยู่แล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งก็นำไปให้กับผู้เปราะบางในชุมชน แล้วตอนนี้วัดก็กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. อสม. กศน. โรงเรียน ฯลฯ ล่าสุดมาช่วยกันปลูกรวมๆ แล้ว 100 กว่าต้น ทั้งไม้เศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่าโมง มะฮอกกานี ฯลฯ และไม้ผล เช่น มะม่วง กระท้อน มะไฟ มังคุด ทุเรียน ฯลฯแล้วก็แบ่งให้แต่ละคนเอาเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกที่บ้าน เพื่อความมั่นคงทางอาหารเป็นหลักประกันว่าลูกหลานจะได้มีอาหารปลอดภัยกินครบสามมื้อ เศรษฐกิจแบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก อะไรที่ทำได้-ช่วยได้อาตมาก็ต้องทำ”
ด้าน รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิปันสุขและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในฐานะที่เป็นภาคีหลักคนหนึ่ง กล่าวว่า จากเรื่องอาหารพอมาถึงเรื่องโรคระบาด ชุมชนวังตะกูโดยผู้อำนวยการ รพ.สต.วังตะกู และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้คิดร่วมกันว่าเราไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อ และผู้ที่มีความเสี่ยงในตำบลเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้นในระหว่างที่มีการกักตัวในบ้าน อสม.ก็จะเข้าไปดูแลและให้คำแนะนำในเรื่องการใช้สมุนไพรพื้นบ้านด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ อาจจะโดยการรมหรือสูดไอน้ำที่ได้จากการต้มหัวหอม ข่า ตะไคร้ การดื่มน้ำขิงร้อน ๆ การดื่มน้ำกระชายปั่น รวมถึงการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างเหมาะสมในปริมาณที่ถูกต้อง
วัตถุดิบเหล่านี้หาได้ง่าย และทำได้ไม่ยาก ผู้ป่วยหรือผู้ที่กักตัวสามารถทำได้ด้วยตนเองในกรณีที่อยู่บ้าน หรือในกรณีที่อยู่ระหว่างการรอตรวจหรือรอการมารับตัวไปโรงพยาบาล และเพื่อที่จะให้ อสม.มีความรู้และทักษะที่ถูกต้อง รพ.สต.วังตะกูจึงร่วมกับ อบต.และภาคีเครือข่ายจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยมีนักวิชาการจากกลุ่มงานแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกจาก สสจ.นครปฐมและโรงพยาบาลห้วยพลูมาเป็นวิทยากร นอกจากจะมีการบรรยายแล้วยังมีการร่วมกันปลูกกระชาย 200 หัว และการสาธิตการทำน้ำสมุนไพรแบบต่าง ๆ พร้อมนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มูลนิธิปันสุข และภาคีเครือข่ายได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้เปราะบาง และสนับสนุนอาหารเช้าให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 2 นครปฐม เป็นเวลา 21 วัน นำหนังสือนิทานสำหรับผู้ป่วยเด็ก เครื่องวัดความดันจำนวน 5 เครื่องและเครื่องวัดอุณหภูมิ 2 เครื่องให้โรงพยาบาลสนาม 4 ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมด้วย
น่าชื่นชมการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนฯ... สิ่งง่าย ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะแนวคิดนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์ขณะนี้...ทำเอง-ปลูกเอง-กินง่าย-อยู่ง่าย-ใช้จ่ายอย่างพอเพียงเหลือก็แบ่งปัน อย่างน้อยทำให้ท้องอิ่มประทังชีวิตมีแรงสู้กับเศรษฐกิจยุคโควิดฯไปได้ เป็นการต่อลมหายใจไทยโดยไม่ต้องโหลดแอพ-ไม่ต้องลงทะเบียนฯให้วุ่นวาย.
คอลัมน์...”สิ่งดี ๆ ในสังคม”
“เหยี่ยวขาว”