Last updated: 9 ม.ค. 2564 | 431 จำนวนผู้เข้าชม |
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รุกภารกิจ“สร้างชีวิต”ต่อเนื่อง จัดโครงการร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการระยะที่ 2 มอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน 17 จังหวัดภาคเหนือ
เมื่อวันก่อน( 8 ม.ค.) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดยนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเหรัญญิก เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุรพงศ์ เสรฐภักดี กรรมการ และ นายอรัณย์ โตทวด ผู้จัดการมูลนิธิฯ ร่วมในพิธีมอบอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนภาคเหนือ โดยกำหนดลงพื้นที่ จ.อุทัยธานีเป็นจังหวัดแรก รวม 40 ครัวเรือน รวมมูลค่าเป็นเงินทั้งสิ้น 546,280 บาท เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ ”บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ” โดยมีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานร่วมในพิธี พร้อมด้วย นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมในพิธี ที่หอประชุมประชาคมอ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
การดำเนินการ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ” มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จะจัดทีมลงพื้นที่ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมให้ความรู้ ทักษะ และมีวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้จัดหาอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนสร้างความสุขสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2562 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน ได้ริเริ่มโครงการฯ (ระยะที่ 1) ลงพื้นที่ 17 จังหวัดภาคกลาง มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ทั้งสิ้น 98 ครัวเรือน โดยมอบแล้วเสร็จในปี 2563 รวมมูลค่าเป็นเงินทั้งสิ้น 1,288,712 บาท
โดยในปีงบประมาณ 2563 นี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และกรมพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 500 ครัวเรือน รวมงบประมาณดำเนินการเป็นเงิน 10,000,000 บาท
อย่างไรก็ตามกว่า 111 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ รวมทั้งการมอบโอกาสทางอาชีพ เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุก ๆ ด้าน ดังคำขวัญมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต"ต่อไป.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...ป่อเต็กตึ๊ง