Last updated: 20 ส.ค. 2563 | 386 จำนวนผู้เข้าชม |
รัฐสภา-เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.)407 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 มีคณะกรรมาธิการกีฬาและที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุม ครั้งนี้ยังคงติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 19 เมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 เรื่องการจัดหางบประมาณเพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่ง ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เลขานุการฯ, ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการกีฬาฯ และนายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือนักกีฬาและผู้ประกอบการทางการกีฬา ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของการกีฬาแห่งประเทศไทย และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ นับจากช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงปัจจุบัน นักกีฬาและผู้ประกอบการทางการกีฬายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหานี้คณะกรรมาธิการกีฬาสภาผู้แทนราษฎร โดย ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ป.กมธ.กีฬาฯ ให้ความสำคัญและได้มอบหมายให้ ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม เป็น ป.อนุกรรมาธิการมีหน้าที่ติดตามปัญหากับนักกีฬาที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด19 พบว่าปัญหาการช่วยเหลือ สงเคราะห์นักกีฬาและผู้ประกอบการ ไม่มีเอกภาพ ไม่ใช้กฏหมายอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ได้ให้อำนาจ หน้าที่ชัดแจ้งต่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
“มีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือนักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ในมาตรา 8 และ มาตรา9 (1) ให้อำนาจ กกท.กระทำกิจกรรมต่างๆภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 8 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง (1) ถือกรรมาสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสินทธิต่างๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่น ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง ทำการแลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักรตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ (3) ให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ กกท.ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมาการกำหนด”
นายยุทธนา กล่าวต่อว่า โดยสรุป พ.ร.บ.นี้คือเครื่องมือในการทำงาน เพราะประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฏหมาย การตรา พ.ร.บ.นี้ ก็เป็นเครื่องมือให้ อำนาจ แก่ กกท.และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้ทำงาน แต่กลับไม่หากทางช่วยเหลือ มีการใช้วิธีการตีความไปต่างๆนานา ทั้งที่หลักของกฏหมาย ด้วยทฤษฎีการตีความกฏหมายต้องไม่ให้เกิดทางตัน อีกทั้งในชั้นตอนการช่วยเหลือ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ถือเป็นเลขาของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ก็มีหน้าที่ในการส่งเรื่องไปยัง คณะกลั่นกรอง จากนั้นก็ส่งให้ผู้รับผิดชอบอนุมัติ(กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ) แต่ปัจจุบันกลับเกิดปัญหาการขัดกัน จึงทำให้การช่วยเหลือล่าช้า จึงขอให้ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายได้ยึดแนวทางใน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 นี้ด้วย
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเตรียมการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 เริ่มต้นการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและเข้าชี้แจงแนวทางกับ คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร คำแนะนำของ คณะกรรมาธิการกีฬาครั้งนี้ จะนำไปกลับทบทวนโดยเฉพาะขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ กฏหมาย ใน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558
“ผมยอมรับว่าในพ.ร.บ.นี้ สามารถที่จะให้นักกีฬายืมเงินได้ ซึ่งก็จะต้องดูขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นด้านการช่วยเหลือที่ดำเนินการไปแล้ว เร็วๆนี้จะมีการจ่ายเงินให้กับ นักกีฬาอาชีพและมวยรวมเป็นเงินกว่า 40 ล้านบาท ส่วนแนวทางในอนาคตก็จะนำกลับไปพัฒนาและใช้ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ฉบับนี้ให้มากขึ้น” ดร.ก้องศักด กล่าวในที่สุด
ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ป.กมธ.กีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้สรุปเกี่ยวกับการใช้จ่าย อนุมัติให้ใช้เงินเหลือจ่ายของกีฬาอาชีพและกีฬามวยเพื่อไปเยี่ยวยานักกีฬา ว่าทำอย่างไรเป็นลายลักษณ์อักษร และขอให้รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณหรือการบริหารจัดการของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 3 ปี ย้อนหลังต่อ คณะกรรมาธิการฯ นอกจากนี้ขอให้ ทางผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ดูในเรื่องข้อกฏหมายเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาต่อไป.