Last updated: 18 เม.ย 2568 | 160 จำนวนผู้เข้าชม |
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรี แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาสในพื้นที่ชลบุรี พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส-จักรยานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ชนบท และนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี
วันที่ 18 เม.ย.มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยนายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก นางชุติมา ตันติศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และนางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมลงพื้นที่ จ.ชลบุรี มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อยมีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ จำนวน 6 ราย
พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส จำนวน 10 ราย และมอบจักรยาน แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน จำนวน 2 โรงเรียน รวมจำนวน 20 คัน พร้อมกระบอกน้ำขนาด 1 ลิตร รวมมูลค่าการดำเนินการช่วยเหลือชาวชลบุรีในครั้งนี้ทั้งสิ้น 184,072 บาท พร้อมกันนี้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมีนายพงศ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ รองผู้ว่าฯชลบุรี พร้อมด้วยนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายนัธทวัฒน์ ธนโชติชัยพัชร์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี และนางสาวอัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊-อัญชลี) อาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมในพิธี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี
นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรีและครอบครัว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ แก่ สตรี บุรุษ พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรู้และความสามารถ ฐานะยากจน ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ โดยเราได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพิษณุโลก
ตลอดระยะเวลากว่า 115 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง.