Last updated: 16 ม.ค. 2567 | 446 จำนวนผู้เข้าชม |
สศอ.รับฟังปัญหาผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุม บริษัทเนแรคอาร์ม อินดัสตรี จำกัด นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พร้อมด้วย พล.อ.เอกชัย หาญพูนวิทยา ที่ปรึกษาฯ และคณะจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดินทางมายังบริษัทเนแรคอาร์ม อินดัสตรี จำกัด ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมี พล.อ.วัฒนา นาราคาม ประธานกรรมการบริษัทเนแรคอาร์ม อินดัสตรี จำกัด ดร.ณัฏฐ์ภูอิสร์ ศรีเพชร กรรมการอำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ ผู้แทน พล.อ.อ.มานัส วงศ์วาทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ นางสาวธัญพัฒน์ นิธิโชติธนกิจ กรรมการบริษัทเนแรคอาร์ม อินดัสตรี จำกัด ให้การต้อนรับ
นางวรวรรณ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ และสามารถต่อยอดให้ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดผลิตภัณฑเป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาวุธและกระสุนปืน กลุ่มยานพาหนะรบ กลุ่มอากาศยานไร้คนขับและกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรก โดยในวันนี้มารับฟังข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการ มีทิศทางต่อยอด หรือประสบปัญหาในด้านใดบ้าง รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานการผลิตเครื่องกระสุนปืนเพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรม
ด้าน พล.อ.วัฒนา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมทางทหารของไทย โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการยกระดับประสิทธิภาพให้ก้าวทันเทคโนโลยี แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี Guideline for Defence Industrial Development Under the 20-Year National Strategy อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานและหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศ ต่อความพร้อมรบของกองทัพในด้านยุทโธปกรณ์และขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจึงถูกยกให้เป็นวาระสำคัญที่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และอยู่ในนโยบายของกระทรวงกลาโหม
ซึ่งการพัฒนางานอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ จะต้องเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และมิตรประเทศในการสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐ ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจึงเปรียบเสมือนหลักประกันด้านความมั่นคงของประเทศ ความพร้อมรบทางด้านเประเทศภายใต้ปรัชญาการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงของประเทศได้ในทีสุด
บริษัทเนแรคอาร์มสอินดัสตรี จำกัด เป็นบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้ตั้งโรงงานทำ ประกอบ ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลักษณะอาวุธ เมื่อปี 2553 โดยเริ่มจากการผลิตปลอกกระสุนปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 37 มิลลิเมตร Type 74 และ Type76 ปลอกและหัวกระสุนปืน ขนาด .45 นิ้ว ACP ปลอกกระสุนปืนใหญ่ ขนาด 105 มิลิเมตร กระสุนปืนลูกซองครบนัด ขนาด 12 เกจ และประกอบรวมครบนัด กระสุนปืนพกทุกขนาดที่ได้รับอนุญาต ภายใต้แบรนด์ NRC และในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนพัฒนา วิจัย จนสามารถผลิต ชนวนหัว ลูกระเบิด ขนาด 120 มิลลิเมตร ส่งให้กับหน่วยงานภายในประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทฯที่ได้รับใบอนุญาต ในการผลิตและจำหน่ายเครื่องกระสุนปืน และ อาวุธปืน โดยเฉพาะอาวุธปืน NARAC556 ขนาด 20 นิ้ว และ NARAC556 ขนาด 14.5 นิ้ว ที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ฉบับเพิ่มเติม สิงหาคม 2565 ซึ่งถือว่า เป็น นวัตกรรม ที่คนไทย สามารถผลิตได้เอง และใช้งานได้จริง
ที่ผ่านมา บริษัทฯยึดมั่นตามแนวทางดำเนินงานตามพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังเดินตามแนวนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย มาตราที่ 65 รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศ และพระราชบัญญัติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บริษัทฯจึงจัดอยยู่ในอุตสาหกรรม เป้าหมาย อันดับที่ 11 ในอุตสาหกรรมกาป้องกันประเทศ ทำให้ประเทศมีศักยภาพพร้อมเผชิญภัยคุกคาม ต่อความมั่นคงของชาติ และ เป็นการพึ่งพาตนเอง ประหยัดงบประมาณในการนำเข้า สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างองค์ความรู้ให้กับคนไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ ภายในประเทศ และพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
หลังเยี่ยมชมเสร็จ นางวรวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการเข้าตรวจเยี่ยมโรงงาน และรับฟังปัญหา เพื่อกำหนดทิศทาง และรายงานปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการทให้กับคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ พบปัญหาหลัก ๆ ของผู้ประกอบการ คือปัญหาและอุปสรรคทางด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การส่งออกยุทธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาด้วยดุลพินิจที่แตกต่างกันออกไป การจัดซื้อภาครัฐสำหรับ ยุทธภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนการผลิตในประเทศสูงกว่า ยุทธภัณฑ์นำเข้า (ภาษี 0%) รวมถึงการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนายุทธภัณฑ์ ซึ่งทางผู้ประกอบการมองว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา ควรจะมีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง ให้บริการแบบ One Stop Service มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องตีความกฎหมายให้ชัดเจน อีกทั้งยังควรจัดสัดส่วนงบประมาณเพื่อซื้อยุทธภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ มาตรการภาษี และส่งเสริมการส่งออก รวมถึงแหล่งเงินทุนงบประมาณสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาบุคลากร.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...รังสี ลิมปิโชติกุล-ราชบุรี.