จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ“นักข่าวชาวบ้าน” รู้เท่าทันกลโกงสื่อออนไลน์

Last updated: 16 ก.ย. 2565  |  624 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ“นักข่าวชาวบ้าน” รู้เท่าทันกลโกงสื่อออนไลน์

สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ภาคอีสาน จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล ติดอาวุธทางปัญญาชาว ต.วังหินลาด สร้างเครือข่าย “นักข่าวชาวบ้าน” รู้เท่าทันกลโกงสื่อออนไลน์

วันก่อน พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการรับรู้ และเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในปัจจุบันมีมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้พื้นที่การเสนอข้อมูลข่าวสารสังคมทั่วโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสื่อดั้งเดิม หรือนักข่าวกระแสหลัก จากสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์อีกต่อไป ปรากฏการณ์ของ “นักข่าวชาวบ้าน” ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ผลิตและเผยแพร่ข่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ว่า “ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้” ดูจะไม่ใช่คำพูดเกินจริงสำหรับยุคนี้ ด้วยความที่อุปกรณ์การสื่อสารทุกวันนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลากหลายหน้าที่ และสามารถพกพาติดตัวได้ตลอด บวกกับทิศทางของข่าวในกระแสหลักมักจะให้น้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ข่าวของคนธรรมดา หรือเรื่องเล่าจากชุมชน จึงไม่ได้รับนำเสนอผ่านสื่อหลัก



“นักข่าวชาวบ้าน” คือ ปรากฏการณ์ที่ประชาชนจากหลายกลุ่ม หันมาจับกล้องสวมบทบาทเป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน แนวคิดนี้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยมีการขยายแนวคิดนี้ให้คนธรรมดาที่สนใจได้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวชาวบ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า “นักข่าวชาวบ้าน” มีมโนทัศน์เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างไร การรายงานข่าวสาร ข้อมูล เรื่องราวเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสนใจของประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ได้ผ่านการฝึกฝนหรืออบรมวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผลิตเนื้อหาข่าวเผยแพร่ไปสู่สาธารณะด้วยตัวเอง การรายงาน ข้อมูลข่าวที่เน้นความรวดเร็วของนักข่าวชาวบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบโดยกองบรรณาธิการ ทำให้เกิดปัญหาข่าวสารที่มีลักษณะไม่รอบด้าน หรืออาจมีการเผยแพร่รูปภาพที่ไม่สมควรออกไป นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดลิขสิทธิ์ หมิ่นประมาท และโฆษณาแฝง



นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น กระบวนทัศน์ในการกำกับดูแลสื่อ โดยมีจรรยาบรรณสื่อหรือจริยธรรมสื่อมาเป็นแนวทางพื้นฐานในการปฏิบัตินั้น สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ภาคอีสาน เล็งเห็นถึงความสำคัญในอิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย จึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจาก 12 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อแบบเข้มข้นจากนักสื่อสารมืออาชีพ ให้ความรู้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตได้



สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลวังหินลาด,ศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น และไทยเสรีนิวส์ จัดทำ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล “นักข่าวชาวบ้าน” ประจำปี 2565 ขึ้น ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยมีอาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน และคณะ เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง รู้จักสื่อออนไลน์ ,เทคนิค การนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์และการใช้ Social Media ,เทคนิคการถ่ายภาพ ,การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ และได้รับความอนุเคราะห์จากนายอรุณ โพธิ์ปัฒสา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด ให้ใช้ห้องประชุม อบต.วังหินลาด เป็นสถานที่จัดการอบรมดังกล่าว.

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้