Last updated: 1 มิ.ย. 2564 | 2406 จำนวนผู้เข้าชม |
เปิดเรื่องราวดี ๆอีกภารกิจของ“ปกครองฯ”กับหน้างานคืนความเป็นคน(ไทย)ให้ผู้ไร้สัญชาติ ที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้โอกาสสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้ยากไร้ ชื่นชม“ป.เอ็ม”ตัวจักรสำคัญ-ผู้ปิดทองหลังพระ ทำงานทุ่มเทยึดมั่นสโลแกน “ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง-สุขมากขึ้น”
-พบกันอีกครั้งสำหรับคอลัมน์ “เก็บตกปกครองฯ” โดย“เหยี่ยวขาว” วีคนี้อยากนำเสนอภาพ และการทำงานช่วยเหลือประชาชนอีกบทบาทหรืออีกหน้างานหนึ่งของกรมการปกครอง หากเอ่ยถึงฝ่ายปกครองหรือปลัดอำเภอฯหลายคนคงนึกถึงภาพในละครทีวี หลายเรื่องที่บทบาทพระเอกเป็น“ปลัดฯ”ภาพจับโจรปราบปรามผู้ร้าย มาในยุคปัจจุบันเป็นภาพตั้งด่านจับสถานบริการ บ่อนการพนัน ดูแลความสงบเรียบร้อยร่วมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่เห็นจนชินตาตอนนี้คือด่านตรวจโควิด-19 แท้จริงแล้วฝ่ายปกครองโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอชายแดนมีหน้าที่ที่ต้องดูแลประชาชนที่ด้อยโอกาสนั้นก็คือ “คนไร้สัญชาติ” กล่าวคือเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติใด ๆ บนโลกนี้!!!
-คนเหล่านี้เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้ขาดโอกาสในการทำงาน ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ จึงเป็นอีกหนึ่งหน้างานที่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการพิจารณาให้สัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติซึ่งเป็นกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ให้ความสำคัญเร่งรัดในการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนดังกล่าวจนมีคำพูดติดหูว่า “ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง-สุขมากขึ้น” การมีสัญชาติไทยก็ถือเป็นความฝันอย่างหนึ่งของคนชายแดนที่หวังจะมีสัญชาติไทย เพื่อได้เรียนหนังสือ-ได้รับทุนการศึกษา-ได้ทำงานที่อยากทำ-ได้ค่าแรงมากขึ้น ฯลฯส่งผลให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นตามไปด้วย!!!
-เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบเกี่ยวกับฝ่ายงานสัญชาติชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ ในสังกัดกรมการปกครอง ที่น่าชื่นชมคนหนึ่งคือนายบัณฑิต นามเครือ หรือมักคุ้นชื่อว่า “ป.เอ็ม” เจ้าพนักงาน ชำนาญการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อดีตปลัดอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อำเภอชายแดนที่มีชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยได้ดำเนินการเกี่ยวกับงานสัญชาติชนกลุ่มน้อยตั้งแต่ปี 58 เหตุที่มีความสนใจและชื่นชอบในการทำงานสัญชาติ เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯในพื้นที่ซึ่งพระองค์มักจะมาทรงงานเป็นประจำและคำถามที่พระองค์มักจะตรัสอยู่เสมอ คือ “เด็กๆ มีบัตรประชาชนไหม” ทำให้มีความตั้งใจที่จะสนองพระราชดำรัสให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ฯได้มีสัญชาติไทย และมีบัตรประจำตัวประชาชน!!!
-ประกอบกับกรมการปกครองมีโครงการสถานะบุคคลในการเร่งรัดการให้สัญชาติไทยแก่เด็กนักเรียนที่ไร้สัญชาติ ทำให้ฝ่ายปกครองเร่งรัดในการดำเนินการ ช่วง 3 ปีมีเด็กนักเรียนได้รับสัญชาติไทยกว่า 1 พันคน...จนถึงปี 61 “ป.เอ็ม” ได้รับรางวัลบุคคลกรดีเด่นทางการทะเบียน ก่อนย้ายมาช่วยราชการที่กรมการปกครองในปัจจุบัน ทำให้มีความรู้ประสบการณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากจากเนื้องานไม่ใช่เพียงอำเภอ แต่เป็นการมีโอกาสไปถ่ายทอดประสบการณ์ให้พี่น้องปลัดอำเภอได้มีความรู้ในการดำเนินการทั่วทุกภาคในประเทศไทย,ได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการในการแก้ไขปัญหาสัญชาติให้คนพิการในศูนย์พึ่งพาคนยากไร้,เป็นวิทยากรในการบรรยายในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดฯ และส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรนักเรียนปลัดอำเภอซึ่งมีความสำคัญกับการไปช่วยเหลือแก่ไขปัญหาสัญชาติในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น!!!
-“การทำงานของผมล้วนโชคดีที่ผู้บังคับบัญชาติให้ความไว้วางใจ และเมตตาทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้งานตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติครบทุกเนื้องาน ไม่เพียงแต่เพียงคนไร้สัญชาติยังได้รับโอกาสการดำเนินการขอสัญชาติไทยของกลุ่มคนต่างด้าวทั่วไปที่มีสัญชาติอื่นแล้ว เช่น นักลงทุน คนต่างชาติที่มีครอบครัวคนไทยในประเทศไทย หรือคนที่มีความสามารถที่จะมาสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไทย เช่น โค๊ชเช สิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำคือคู่มือการดำเนินการเกี่ยวกับการขอสัญชาติไทยของชนกลุ่มน้อย และคนต่างด้าวทั่วไปเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปเป็นแนวทางในการทำงานหรือผู้ที่ต้องการขอสัญชาติไทยได้เข้าใจกระบวนการและสิทธิของตนด้วย สำหรับผู้ที่ได้สัญชาติไทยจากผลการดำเนินการของฝ่ายปกครองมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จเป็นคนดี เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เป็นครู ข้าราชการ อาชีพส่วนตัว นักเขียนนิยายออนไลน์ ฯลฯ”!!!
-สุดท้ายขอหยิบยกเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชการที่ 9 ซึ่งเคยตรัสไว้เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2544 ว่า “ประชาชนที่อยู่ในประเทศเขามีมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นคนไทย คือ เขาไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริง เขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ของความเป็นไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน เพราะว่าถ้าหากว่ามีคนอยู่ในเมืองไทยและมีความน้อยใจมาก ไม่มีใครเอาใจใส่ ก็จะทำให้ความมั่นคงของประเทศด้อยไป...”!!!
-มอบโล่...คณะกรรมการ ป.ป.ช. ป. มอบโล่เกียรติยศให้แก่กรมการปกครอง ในฐานะ “หน่วยงานที่มีพัฒนาการผลการประเมินสูงสุด” ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2563 (ITA Awards 2020) เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรในสังกัดกรมการปกครอง และเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในด้านการบริหารงานด้วยความโปร่งใสและยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล!!
-แจ้งผิดพรบ....ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ นำโดย ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา ให้การสนับสนุนกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัยจ์ ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524 โดยนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัยจ์ และนายกลวัชร จำนงค์จีนารักส์ หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา 7 ส่วนการสอบสวนคดีอาญา ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมการปกครองให้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524 ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม โดยมี พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการปราบปราม ให้การต้อนรับ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินคดี!!
-ตรวจด่านฯ... นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง จ.ยะลา ลงพื้นที่ด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง เป็นด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ชุดป้องกันชายแดนที่ 4 ตำรวจ สภ.เบตง ตำรวจตม. ตชด. ชุดเฝ้าตรวจชายแดน อส.อำเภอเบตง ออกลาดตระเวนตามแนวกำแพงตลอดแนวชายแดนฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา และช่องทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองโควิด-19 ของกลุ่มแรงงานไทย และต่างด้าวในมาเลเซีย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำโควิด-19เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่!!
คอลัมน์...“เก็บตกปกครองฯ”
“เหยี่ยวขาว”